ปัญหาที่ ๖ โภชนะ
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน ผู้ปฏิบัติต้องถือองค์ ๒ แห่งโภชนะนั้น เป็นไฉน”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร อันโภชนะ
๑. เป็นของบำรุงสัตว์
๒. ให้เกิดกำลัง
๓. สัตว์ทุกจำพวกย่อมปรารถนา
ขอถวายพระพร ผู้ปฏิบัติต้องกอปรด้วยคุณสมบัติเช่นนี้แล คือ
๑. ต้องอุปถัมภ์หมู่สัตว์
๒. ต้องให้เกิดกำไรคือบุญกุศล
๓. ต้องเป็นผู้อันโลกทั้งปวงปรารถนา
ดังเถรภาษิตที่พระโมฆราชกล่าวว่าผู้ปฏิบัติพึงเป็นผู้อันหมู่โลกปรารถนาด้วยความสำรวม ความกำหนด ศีล และข้อปฏิบัติ”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสว่า “ชอบแล้ว”
ปัญหาที่ ๗ นายขมังธนู
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน ผู้ปฏิบัติต้องถือองค์ ๔ แห่งนายขมังธนูนั้น เป็นไฉน”
รูปนายธนู
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร ธรรมดานายขมังธนู
๑. เมื่อจะยิงก็ยันเท้าทั้งสองกับพื้นให้มั่น เกร็งเข่ามิให้ไหวตัวได้ ตั้งกายให้เป็นหลักมือทั้ง ๒ น้าวคันธนูมาจับไว้ให้มั่นเอาลูกศรไว้ในระหว่างนิ้มมือ เล็งให้เที่ยงตรง ดีใจว่าจะได้ยิง
๒. แสวงหาไม้ง่ามไว้สำหรับดัดลูกศรที่คดค้อมให้เที่ยงตรง
๓. เล็งให้ถูกที่หมาย
๔. หัดยิงในเวลาเช้าเย็นเป็นเนืองนิตย์
ขอถวายพระพร ผู้ปฏิบัติต้องกอปรด้วยองคคุณเช่นนายขมังธนูนี้เหมือนกัน คือ
๑. ตั้งเท้าคือความเพียรไว้บนแผ่นดิน คือศีลให้มั่นคง ถือขนติโสรัจจะมิให้หวั่นตัวได้ ตั้งจิตไว้ในสังวร กำจัดความยินดียินร้ายเสีย พึงทำโยนิโสมนสิการไว้ในระหว่างจิตประคองไว้ซึ่งความเพียร ปิดเสียซึ่งทวารทั้ง ๖ ตั้งไว้ซึ่งสติ พึงยังความยินดีให้เกิดว่า จะยิงกิเลสเสียด้วยลูกศรคือปัญญา
๒. เจริญสติปัฏฐาน พยายามดัดจิตที่คดให้ตรง
๓. พิจารณาร่างกายโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ใช่ตัวตน
๔. ตั้งใจไว้ในอารมณ์ หมั่นพิจารณาทุกเช้าทุกเย็น
ดุจภาษิตที่พระสารีบุตรกล่าวไว้ว่า อันนายขมังธนูย่อมหัดยิงธนูทุกเช้าเย็น เมื่อไม่เว้นการหัดยิงก็จะได้ขวัญข้าวฉันใด แม้พุทธบุตรก็เป็นฉันนั้น ย่อมทำการฝึกหัดกาย ไม่ทอดธุระเสียก็จะได้บรรลุพระอรหัตต์”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสว่า “ชอบแล้ว”
_______________________
จบมิลินทปัญหา
<หน้าที่แล้ว สารบัญ
|