ปัญหาที่ ๒ บัว
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน ผู้ปฏิบัติต้องถือองค์ ๓ แห่งบัว นั้นเป็นไฉน”
รูปบัว
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร ธรรมดาของบัว
๑. ย่อมเกิด และงอกงามในน้ำ แต่น้ำก็หาได้ติดไปในใบบัวไม่
๒. เมื่อโผล่ขึ้นจากน้ำก็ลอยอยู่
๓. ต้องลม แม้เล็กน้อยก็สะบัดใบแกว่งไปมา
ขอถวายพระพร ผู้ปฏิบัติก็ต้องทำตนให้ประกอบด้วยคุณสมบัติอันเทียบได้กับองคคุณทั้ง ๓ นี้ คือ
๑. เป็นผู้ไม่ติดอยู่ในตระกูล และลาภยศสุขสรรเสริญเป็นต้น
๒. ครอบงำเสียซึ่งโลกธรรมทั้งปวง แล้วลอยอยู่ ณ โลกุตรธรรม
๓. กระทำความสำรวมในกิเลสทั้งหลายแม้มีประมาณน้อย เห็นกิเลสแม้เล็กน้อยเป็นเหตุหวั่นหวาด
ดุจพุทธภาษิตว่า ภิกษุมีปรกติเห็นภัยในโทษทั้งหลาย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสว่า “ดีละ”
ปัญหาที่ ๓ พืช
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน ผู้ปฏิบัติต้องถือองค์ ๒ แห่งพืชนั้นเป็นไฉน”
รูปต้นข้าว
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร ธรรมดาของพืชพันธุ์ข้าว
๑. แม้มีประมาณน้อย แต่เมื่อได้หว่านไว้ในเนื้อนาอันดี และฝนเชยอยู่เนือง ๆ พืชนั้นก็ย่อมงอกงามและให้ผลมากมาย
๒. เมื่อหว่านลงในนาที่ได้แผ้วถางดีแล้ว ย่อมงอกงามโดยเร็ว
ขอถวายพระพร ผู้ปฏิบัติต้องทรงคุณสมบัติอันเทียบได้กับองคคุณทั้ง ๒ ของพืชพันธุ์นั้น คือ
๑. ประกอบด้วยศีลรักษากายวาจาให้เรียบร้อย เมื่อรักษาดีแล้วย่อมเป็นปฏิปทา (ทางปฏิบัติ) ที่สามารถให้ผลมากมาย นับแต่มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และเป็นปัจจัยให้ได้นิพพานสมบัติ
๒. จงปล่อยใจไปในเนื้อที่ที่ดี กล่าวคือสติปัฏฐาน (ตั้งสติมั่นในการพิจารณาธรรม) ๔ พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงจนได้ความสงบใจ และเกิดปัญญา ซึ่งเป็นเหตุนำมาซึ่งผลดีงามโดยฉับพลัน
ดังวจนะประพันธ์ที่พระอนุรุทเถรเจ้ากล่าวไว้ว่า พืชที่หว่านลง
ในเนื้อนาอันดีย่อมงอกงาม และผลแห่งพืชนั้นย่อมยังชาวนาให้ยินดีฉันใด
จิตเมื่อผู้ประกอบความเพียรชำระดีแล้ว ก็ย่อมเจริญในนาคือสติปัฏฐาน ๔ ฉันนั้น”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสว่า “เข้าใจละ”