ปัญหาที่ ๘ การอนุมาณพระนิพพาน (อนุมานปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน เธอได้เห็นพระพุทธเจ้าหรือไม่”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร ไม่ได้เห็น”
ม: “อาจารย์ของเธอได้เห็นหรือไม่”
น: “อาจารย์ก็ไม่ได้เห็นเช่นเดียวกัน”
ม: “ถ้าเช่นนั้น พระพุทธเจ้าก็ไม่มี”
น: “อาตมภาพขอทูลถามพระองค์ก่อนว่า ปฐมกษัตริย์ของพระองค์มีหรือไม่”
ม: “มีสิเธอ”
น: “พระองค์เคยทอดพระเนตรเห็นพระองค์ท่านหรือไม่”
ม: “ไม่เคยเห็น”
น: “พวกราชบริพารของพระองค์ เคยเห็นหรือไม่”
ม: “ไม่เคยเห็นเหมือนกัน”
น: “ถ้าอย่างนั้น ปฐมกษัตริย์ของพระองค์ก็ไม่มี”
ม: “มีสิเธอ เพราะว่ายังมีเครื่องราชูปโภค คือเศวตฉัตร พระมหามงกุฎ ฉลองพระบาท วาลวิชนี พระขรรค์แก้วปรากฏเป็นพยานอยู่”
น: “นั่นแลฉันใด นี่ก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระพุทธเจ้ามีจริง เพราะยังมี โพธิปักขิยธรรม (ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ ) ๓๗ ประการเป็นพยานปรากฏอยู่
ขอถวายพระพร ธรรม ๓๗ ประการเหล่านี้แลทำให้อนุมานได้ว่า พระพุทธเจ้ามีจริง และเป็นผู้ที่ฉลาดที่สุด”
อ่านโพธิปักขิยธรรม
ม: “เธอลงหาตัวอย่างมาเปรียบให้ฟัง”
รูปเปรียบเหมือนกับการจัดวางผังเมือง
น: “นายช่างก่อสร้าง จะต้องกะแผนผังวางรูปโครงพระนครให้มีโรงร้านโรงมหรสพ และถนนหนทาง เพื่อให้ผู้อาศัยได้รับสันติสุข ทุกประการฉันใด
แม้พระพุทธเจ้า ก็ทรงสร้างธรรมนครอันวิจิตรตระการตาขึ้นอย่างสวยงาม และมั่นคง ด้วยมีศีลเป็นกำแพง มีหิริเป็นคู มีญาณเป็นซุ้มประตู มีวิริยะเป็นหอรบ มีศรัทธาเป็นเสาระเนียด (เสาที่เรียงรายกัน) มีสติเป็นนายประตู มีปัญญาเป็นปราสาท
มีพระสุตตันตปิฎก (พระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรมต่าง ๆ) เป็นท้องสนาม มีพระอภิธัมมปิฎก (หลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชา ล้วน ๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคล หรือเหตุการณ์) เป็นถนนสามแพร่ง มีพระวินัยปิฎก (พุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบ ธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณี) เป็นศาล มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นถนน
ขอถวายพระพร ในถนน ๔ สายนั้นพระพุทธเจ้าเปิดร้านขายของต่าง ๆ เช่นร้านดอกไม้ ร้านของหอม ร้านผลไม้ ร้านยาถอนพิษ ร้านยาแก้โรค ร้านขายน้ำอมฤต ร้านเครื่องแก้ว และร้านขายของทุกชนิด”
ม: “เธอจงเทียบร้านสินค้านั้น ๆ เป็นธรรมมาฟังเถิด”
น: “ขอถวายพระพร ร้านดอกไม้ได้แก่สัญญา ๑๐ ร้านของหอมได้แก่ศีล ร้านผลไม้ได้แก่พระอริยผล ๔ ร้านยาถอนพิษได้แก่พระอริยสัจ ๔ ร้านยาแก้โรคได้แก่โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ร้านขายน้ำอมฤตได้แก่คตาสติ ร้านเครื่องแก้วได้แก่ศีล สมาธิปัญญา วิมุติ วิมุติญาณทัสสนะ ปฏิสัมภิทาและโพชฌงค์ ร้านขายของต่างชนิดได้แก่วังคสัตถุสาสน์
ขอถวายพระพร ชาติสมบัติ ธนสมบัติอโรคยสมบัติ (สมบัติคือความไม่มีโรค) วรรณสมบัติ ปัญญาสมบัติ มนุษย์สมบัติ ทิพยสมบัติ นิพพานสมบัติ เหล่านี้เป็นของที่พระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่ไว้ในร้านขายของทั้งนั้น ผู้ปรารถนาสมบัตินั้น ๆ ต้องซื้อด้วยกระทำความเพียร ในการรักษาศีลเจริญสมาธิทำให้เกิดปัญญา
ขอถวายพระพร ชาวธรรมนครนั้น ได้แก่เหล่าท่านผู้ทรงพระไตรปิฎก ผู้บริบูรณ์ด้วยศีลสมาธิปัญญา ผู้สมาทานธุดงค์ และท่านที่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
ขอถวายพระพร ในธรรมนครนั้น ผู้ที่เป็นเสนาบดีคือ ท่านที่ทรงไว้ซึ่งญาณอันประเสริฐ ยังธรรมจักรให้เป็นอยู่เนือง ๆ
ผู้ที่เป็นปุโรหิต คือท่านที่มีฤทธิ์มาก ยากที่ใครจะผจญได้ สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ได้ต่าง ๆ
ผู้ที่เป็นผู้พิพากษา คือท่านที่มีความปรารถนาน้อย วางอารมณ์อยู่ในธุดงคคุณ
ผู้ที่ทำพระนครให้สว่างไสว คือท่านที่ได้ทิพพจักษุ ฉลาดในจุตูปปาตญาณ
ผู้รักษาธรรมนคร คือท่านที่เป็นพหูสูตทรงนวังคสัตถุสาสน์
ผู้จัดระเบียบธรรมนคร คือท่านผู้แตกฉานในพระวินัย
ผู้ขายดอกไม้ คือท่านที่มหาชนรักใคร่ และปรารถนาอย่างยิ่ง
ผู้ขายผลไม้ คือท่านผู้ได้มรรคผล แล้วย่อมจำแนกผลนั้น ๆ แก่ผู้ปฏิบัติแม้เหล่าอื่น
ผู้ขายของหอม คือท่านผู้บริสุทธิ์ด้วยศีลคุณนักดื่มในธรรมนครนั้น ล้วนแต่ท่านที่รื่นเริงในพระธรรมวินัย จะทำจะพูดจะคิดย่อมเกี่ยวด้วยรสคือพระธรรมทั้งนั้น
ผู้ดูแลธรรมนคร คือเหล่าท่านที่ประกอบความเพียรขวนขวายแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์สุข
ผู้ที่เป็นครู ก็บอกกล่าวเฉพาะแต่นวังคสัตถุสาสน์ตามอรรถ ตามพยัญชนะ ตามเหตุ ตามนัย
เศรษฐี คือผู้ที่มั่นคั่งไปด้วยแก้ว คือพระธรรม
ราชบัณฑิต คือผู้ฉลาดในการชี้แจงข้ออรรถธรรม
ขอถวายพระพร ตามที่อาตมภาพทูลถวายมานี้ ย่อมจะชี้ให้เห็นว่า ธรรมนครมีความวิจิตรพิสดารเพียงไร เหตุนี้ขอพระองค์ได้ทรงอนุมานธรรมนครดูว่า นอกจากพระพุทธเจ้า ผู้อื่นไม่มีใครสามารถจะสร้าง และตั้งแต่งขึ้นได้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าผู้สร้างสรรค์ธรรมนครจึงมีอยู่จริง
อย่างเดียวกับพระองค์ทรงอนุมานในพระหฤทัย แล้วย่อมจะทรงทราบว่าทะเลมีคลื่นและกว้างใหญ่ หรือทรงทราบว่า ภูเขาหิมพานต์เป็นภูเขาสูงสุด เป็นต้นฉะนั้น”
ม: “เธอว่านี้ชอบแล้ว”
จบอนุมานปัญหา