ปัญหาที่ ๖ การทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน (นิพพานสัจฉิกรณปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน คำที่เธอว่าพระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมล่วงแล้ว มิใช่ธรรมยังมาไม่ถึง และมิใช่ธรรมที่เกิดขึ้นในบัดนี้นั้น
ก็ถ้าอย่างนั้นผู้ปฏิบัติจะทำอย่างไร คือจะทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานที่เกิดขึ้น แล้วหรือว่าจะให้พระนิพพานเกิดขึ้นเสียก่อนจึงกระทำให้แจ้ง”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร หาเป็นเช่นพระองค์ตรัสถามนั้นไม่ แต่ว่าพระนิพพานที่ผู้ปฏิบัติชอบแล้วกระทำให้แจ้งมีอยู่”
ม: “เธอพูดฟังยากจริง ข้าพเจ้าไม่เข้าใจ”
น: “ขอถวายพระพร พระนิพพานเป็นธรรมสงบระงับมีความสุขอย่างประณีต ผู้ปฏิบัติชอบพิจารณาสังขารตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานนั้นได้ด้วยปัญญา ประหนึ่งศิษย์กระทำให้แจ้งซึ่งวิชาตามคำสอนของครู ฉะนั้น”
ม: “พระนิพพานจะกระทำให้แจ้งด้วยอาการอย่างไร”
น: “ขอถวายพระพร การที่จะกระทำพระนิพพานให้แจ้งนั้น ต้องพิจารณาความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย คำนึงถึงความเกิดดับ แล้วคำนึงเอาเป็นอารมณ์เฉพาะแต่ความดับอย่างเดียว เมื่อนั้นย่อมเกิดความหวาดกลัว เห็นสังขารเป็นไปกับด้วยโทษ เกิดความไม่สบายจิตความเร่าร้อนในกายขึ้น มีความเบื่อหน่ายในภพทั้ง ๓ คิดจะใคร่พ้นไปเสีย จึงพิจารณาสังขารหาทางที่จะให้พ้น
ลำดับนี้จิตก็คำนึงเฉยอยู่ ในที่สุดจิตอันได้ชื่อว่า อนุโลม (ใช้แทนได้ตามความเหมาะสม) เกิดขึ้นในลำดับแห่งมโนทวาราวัชนะ (การคำนึงถึงอารมณ์) อันตัดภวังค์เกิดขึ้น ในขณะที่อริยมรรคจักเกิด
ขอถวายพระพร ผู้ที่ปฏิบัติได้เช่นนี้แล จึงจะกระทำพระนิพพานให้แจ้งได้”
ม: “เธอว่านี้ชอบแล้ว”
จบนิพพานสัจฉิกรณปัญหา
ปัญหาที่ ๗ ที่ตั้งแห่งพระนิพพาน (นิพพานปัฏฐานปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน พระนิพพานตั้งอยู่ทางทิศไหน”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร หาเป็นเช่นพระองค์ตรัสถามนั้นไม่”
ม: “ถ้าเป็นเช่นนั้น พระนิพพานก็เป็นอันไม่มี ผู้ที่พยายามกระทำพระนิพพานให้แจ้งก็ไร้ประโยชน์เปล่า ธรรมดานาย่อมเป็นที่ตั้งแห่งข้าวเปลือก ดอกไม้เป็นที่ตั้งแห่งกลิ่นเป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้าพระนิพพานมีจริงก็น่าจะมีที่ตั้งเช่นเดียวกัน”
น: “ขอถวายพระพร พระนิพพานมีอยู่จริง แต่ที่ตั้งแห่งพระนิพพานไม่มี อาตมภาพจะเปรียบถวาย ธรรมดาไฟตามปรกติก็ไม่ปรากฏว่าตั้งอยู่ที่ไหน แต่เมื่อบุคคลเอาไม้มาสีกันเข้าไฟก็เกิดมีขึ้นได้นี้ฉันใด
รูปเปรียบเหมือนการติดไฟ
แม้พระนิพพานก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือไม่ปรากฏว่ามีที่ตั้ง แต่ว่าเมื่อบุคคลพยายามบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญาให้แก่กล้าแล้ว พระนิพพานก็เกิดขึ้นได้เช่นไฟนั้นแล”
ม: “เมื่อที่ตั้งแห่งพระนิพพานไม่มีก็ช่างเถิด แต่ว่าฐานะที่บุคคลตั้งอยู่ได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ กระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานมีอยู่หรือไม่”
น: “ขอถวายพระพร มีอยู่”
ม: “เธอจงชี้มาให้ฟัง”
น: “ขอถวายพระพร ฐานะนั้นก็คือศีล เมื่อบุคคลตั้งมั่นอยู่ในศีลแล้ว กระทำใจโดยอุบายอันแยบคาย แม้ว่าจะอยู่ที่ใดๆ ก็ย่อมจะกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานได้”
ม: “เธอว่านี้ชอบแล้ว”
จบนิพพานปัฏฐานปัญหา