ปัญหาที่ ๙ การอุทิศบาปกรรม (กุสลากุสลมหันตามหันภาวปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน ส่วนบุญอุทิศให้กันได้ ก็ส่วนบาปเล่า จะอุทิศให้กันได้หรือไม่”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร ไม่ได้”
ม: “เป็นด้วยอะไรจึงไม่ได้”
น: “ขอถวายพระพร เป็นด้วยบาปมีผลบีบคั้นหัวใจทำใจให้หดหู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ บาปก็มีวงอันแคบ มีผลจำกัด แบ่งให้ผู้อื่นทั่ว ๆ ไปไม่ได้ ผู้ใดกระทำก็เฉพาะผู้นั้นเท่านั้น ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลของบาป”
ม: “เธอจงหาตัวอย่างมาเปรียบให้ฟัง”
รูปหยดน้ำบนพื้นดิน
น: “หยดน้ำอันน้อย หยดลงที่พื้นดิน ขอถวายพระพร หยาดน้ำนั้นจะทำให้พื้นดินซึมซาบทั่วไปได้หรือไม่”
ม: “ไม่ได้สิเธอ หยดที่ไหนก็ซึมซาบเฉพาะที่นั่น”
น: “เป็นเพราะอะไร”
ม: “เป็นเพราะหยาดน้ำนั้นมีน้ำอยู่น้อย”
น: “บาป ซึ่งมีผลจำกัด ก็ย่อมเป็นเช่นเดียวกันกับหยาดน้ำอันน้อยนี้แล เมื่ออุทิศให้ผู้อื่น จึงไม่ซึมซาบไปได้
ขอถวายพระพร ก็ถ้าเป็นน้ำฝน แผ่นดินย่อมจะซึมซาบได้มากมายมิใช่หรือ”
รูปฝนตก
ม: “ก็อย่างนั้นซิเธอ เพราะน้ำฝนเป็นของมาก จึงทำให้แผ่นดินชุ่มชื้นได้มาก”
น: “นั่นแลฉันใด แม้บุญก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือมีผลเอิบอาบใจปลูกความชุ่มชื่นอยู่ทุกขณะจิต เมื่อมาอุทฺสให้กันจึงซึมซาบไปถึง”
ม: “เพราะเหตุผลเป็นอย่างไร บาปกับบุญจึงได้ต่างกันเช่นนั้น”
น: “เพราะบาป มีผลเป็นทุกข์ระกำใจ ไม่ชวนให้กระทำต่อไป ทำใหผู้กระทำเกิดความระอาท้อถอย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นอันว่ามีเหตุผลจำกัด มีทางขยายตัวออกได้น้อย
ส่วนบุญมีผลเป็นสุขเย็นกายเย็นใจ ผู้กระทำเกิดความเอิบอิ่มใจอยู่ทุกขณะจิต คือ ขณะจะทำใจก็สบายขณะทำอยู่ใจก็เพลิดเพลิน ทำแล้วใจก็เบิกบาน และเพิ่มพูนความปราโมทย์ขึ้นทุกขณะที่นึกถึง
เป็นอันว่า มีผลขยายตัวออกไปได้เสมอ เหมือนก้อนหินตกลงไปในน้ำ ย่อมทำให้กระแสน้ำกระจายออกไปทุกทีฉะนั้น
ขอถวายพระพร เนื่องด้วยมีเหตุมีผลเป็นเช่นนี้ บุญกับบาปจึงต่างกันเช่นนั้น”
ม: “เธอว่านี้ชอบแล้ว”
จบกุสลากุสลมหันตามหันภาวปัญหา
ปัญหาที่ ๑๐ ความฝัน (สุปินปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน คนที่นอนฝันเป็นเพราะอะไร”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร เป็นเพราะ
๑. ลมกำเริบ
๒. เพราะดีกำเริบ
๓. เพราะเสมหะกำเริบ
๔. เพราะเทวดาสังหรณ์
๕. เพราะอารมณ์ที่แนบอยู่กับจิต
๖. เพราะบุรพนิมิต
ขอถวายพระพร ใน ๖ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือยิ่งกว่า เป็นเหตุให้คนเรานอนฝัน และฝันเพราะบุรพนิมิต เป็นฝันที่แน่นอน”
ม: “ขณะเมื่อจะฝัน เป็นด้วยนิมิตผ่านเข้าไปหาจิต หรือเป็นด้วยจิตไปยึดเอานิมิตมาฝัน หรือมีใครมาบอก”
น: “ขอถวายพระพร เป็นด้วยนิมิตผ่านเข้าไปหาจิตหาใช่เป็นด้วยอย่างอื่นไม่ เปรียบเหมือนเงาที่กระจก นิมิตได้แก่เงา จิตได้แก่กระจกฉะนั้น”
ม: “ขณะเมื่อฝัน หลับหรือตื่น”
น: “มิใช่ขณะหลับหรือตื่น ขณะใดที่จิตจะก้าวลงสู่ภวังค์ หรือก้าวมาจากภวังค์ ขณะนั้นแลเป็นเวลาที่จะฝัน
ขอถวายพระพร ๑. คนหลับ ๒. ท่านที่เข้านิโรธสมาบัติจิตไม่หวั่นไหวจิตก้าวลงสู่ภวังค์
เมื่อเป็นดังนั้น นิมิตก็ผ่านเข้าไปไม่ถึงจิต เหมือนแสงพระอาทิตย์ เมื่อมีเมฆหมอก เป็นต้น มาปิดบังเสียก็ส่องแสงมายังเราได้น้อย หรือไม่ถึงเลยฉะนั้น ส่วนคนตื่นอยู่จิตขุ่นมัวไม่แน่วแน่ ไม่เป็นปรกติ นิมิตเดินไปไม่ถึงจิตเช่นเดียวกัน”
ม: “นี่เธอ เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งความหลับมีหรือไม่”
น: “มี คือขณะเมื่อร่างกายบางส่วนพักผ่อนหยุดการทำงานนี้เป็นเบื้องต้น
ขณะเมื่อจิตหลับม่อยไปดุจวานรหลับนี้เป็นท่ามกลาง
ขณะเมื่อหลับสนิทจิตก้าวลงสู่ภวังค์ นี้เป็นสุดแห่งความหลับ
ขอถวายพระพร ท่ามกลางแห่งความหลับนั้นแล เป็นเวลาที่จะฝัน”
ม: “เข้าใจ”
จบสุปินปัญหา
จบวรรคที่ ๘