บทความ
 เคมี (Chemistry)
 สู่อิสรภาพทางการเงิน (To Financial Freedom)
 การคำนวณ และออกแบบ (Calculation and design)
 เทคโนโลยีการเกษตร (Agricultural Technology)
 เครื่องมือกล (Machine tools)
 Laws of Nature
 อวกาศ
 พลังงาน
 อิเล็กทรอนิกส์
 ทฤษฏีสัมพัทธภาพ
 ไครโอเจนิกส์
 เฮลิคอปเตอร์
 เกียร์อัตโนมัติ
 โทรศัพท์มือถือ
 ยาง
 รถไฟความเร็วสูง
 คลัตช์ และกระปุกเกียร์ธรรมดา
 เจ็ทแพ็ค
 แผ่นดินไหว
 คู่มือ ต้องรอด
 โรงไฟฟ้าพลังน้ำ
 ดาวเทียม
 เชื่อมโลหะใต้น้ำ
 กังหันลมผลิตไฟฟ้า
 เครื่องยนต์ดีเซล
 เครื่องยนต์เบนซิน
 คัมภีร์สงครามซุนวู ฉบับเข้าใจง่าย
 โลหะ
 ฟิสิกส์
 ปัญหาพระยามิลินท์
 ยานยนต์สมัยใหม่
 แมคาทรอนิกส์
 เครื่องกล 6 แกน
 เครื่องยนต์เจ็ท
 หุ่นยนต์
 สินค้า ผลงาน
 เขียนแบบ
 ออกแบบ คำนวณ
 วางโครงการ
 งานโลหะ
 อุปกรณ์
 เครื่องกล
วันนี้ 1,780
เมื่อวาน 1,080
สัปดาห์นี้ 6,014
สัปดาห์ก่อน 15,976
เดือนนี้ 68,940
เดือนก่อน 47,501
ทั้งหมด 4,336,827
  Your IP :52.90.50.252

ปัญหาที่ ๖ ทุกรกิริยา (ทุกรกิริยาปัญหา)

 

      พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน พระโพธิสัตว์ทุก ๆ ท่าน กระทำทุกรกิริยา เหมือนพระโคดมโพธิสัตว์เจ้าของเราหรือไม่”

 

      พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร หามิได้”

 

      ม: “เป็นเพราะอะไร ท่านจึงได้ต่างกันเช่นนั้น”

 

      น: “ขอถวายพระพร เป็นเพราะเหตุ ๔ ประการ คือ

 

      (๑) ตระกูล  ซึ่งบางท่านก็เกิดในตระกูลกษัตริย์ บางท่านก็เกิดในตระกูลพราหมณ์

 

      (๒) การสร้างสมบารมี คือบางท่านก็สร้างบารมีมาถึง  ๑๖  อสงไขยแสนกัลป์ บางท่านก็แปดอสงไขย บางท่านก็ ๔ อสงไขย 

 

      (๓) อายุ บางท่านก็อายุน้อย ดังพระพุทธเจ้าของเรา บางท่านก็อายุมากดังพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

      (๔) รูปพรรณสัณฐาน คือบางท่านก็เล็ก  บางท่านก็ใหญ่  ขอถวายพระพรเหตุ ๔ ประการนี้แล กระทำให้ท่านต่างกันเช่นนั้นแต่ว่าถึงต่างกันเช่นนั้น เมื่อมาได้ตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ย่อมตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ และประกอบด้วยพระคุณสมบัติเช่นเดียวกัน”

 

      ม: “ถ้าอย่างนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าของเรา จะทรงกระทำทุกรกิริยาให้เป็นการลำบากทำไม”

 

      น: “ขอถวายพระพร พระโพธิสัตว์แต่ก่อน ๆ มา สร้างบารมีแก่กล้าแล้ว ท่านจึงออกบรรพชา  ส่วนพระโคดมโพธิสัตว์เจ้าของเรา เมื่อเสด็จออกบรรพชานั้น บารมียังอ่อนอยู่ เหตุนี้จึงต้องทรงกระทำทุกรกิริยา

 

“ก่อนจะพูดถึงทุกรกิริยา คือการทำอย่างไร และเหตุไร พระพุทธเจ้าจึงทรงบำเพ็ญจะขอกล่าวถึงปฏิปทา ซึ่งพราหมณ์นิยมบำเพ็ญกันอยู่ในสมัยพุทธกาลเสียก่อน อันปฏิปทาที่พราหมณ์พากันนิยมทำอยู่ในยุคนั้น ย่อมแบ่งได้เป็น ๒ สาย  ๑ หย่อนสาย ๒ ตึงสาย

 

        การหย่อนสายนั้น ได้แก่ปฏิปทาที่เขาบำเพ็ญเพื่อหวังความสุขอันเกี่ยวด้วยสตรี และสิ่งน่ารักใคร่อย่างอื่น เนื่องด้วยเขามีความนิยมในปฏิปทาอันนี้เป็นลัทธิประเพณี จึงปรากฏว่าฤาษีทั้งหลายโดยมากมีลูกมีเมียทั้งนั้น

 

        เพราะเขาถือว่า ลูกชายย่อมป้องกันมิให้ตกนรกได้ นอกจากนี้ลูกสาวใครจะทำการสมรส บิดามารดาต้องขอความสวัสดีจากฤาษีทั้งหลายก่อน จึงแต่งงานภายหลัง ถ้าได้ทำเช่นนี้จัดว่าเป็นมงคลอันยิ่งใหญ่ แม้ชายผู้เป็นสามีก็ไม่รังเกียจความไม่บริสุทธิ์ของหญิงนั้น

 

        เรื่องนี้หนังสือพระราชพิธี ๑๒ เดือน ซึ่งพระบาท

สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ มีข้อความพิสดารละเอียดละออมาก แต่จะคัดมาไว้ในที่นี้ตอนหนึ่งดังนี้

 

        "พราหมณ์ถ้าเป็นผู้หญิงต้องมีการวิวาหะ อาวาหะแต่ภายในอายุ ๑๒ ปี ลงมา  ถ้าอายุเกิน  ๑๒ ปีขึ้นไป จะทำการวิวาห อาวาหะกับผู้ใดไม่ได้

 

          ต้องนับว่าเป็นคนที่เสียคนแล้ว ต้องเป็นนางพราหมณีสำหรับบูชาเทวรูปในเทวสถานไปจนตลอดสิ้นชีวิต

 

          เพราะฉะนั้น จึงมักต้องทำการวิวาหะ อาวาหะ วิวาหะไว้แต่ยังเล็กอยู่ตายไปเสียต้องนับว่าเป็นหม้ายทั้งไม่ได้อยู่กินด้วยกันเช่นนั้น บางทีเด็กอายุขวบหนึ่ง สองขวบเป็นแม่หม้าย  เด็กหม้ายเช่นนี้ เมื่อโตขึนอายุครบ ๑๒ ปี  ต้องโกน ศีรษะแต่งตัวด้วยผ้าหยาบ จะสวมเครื่องประดับอันใดก็ไม่ได้  เกณฑ์ให้ชักประคำสวดมนต์ภาวนาไปจนตลอดสิ้นชีวิต ทรัพย์มรดกของบิดามารดาจะรับจะรักษาก็ไม่ได้ ต้องตกไปแก่ญาติผู้อื่นที่เป็นผู้ชาย ถ้าญาติผู้นั้นมีใจเมตตากรุณาอยู่ ก็เลี้ยงดู ถ้าไม่มีใจเมตตากรุณาละเลยเสีย จะไปฟ้องร้องแห่งใดก็ไม่ได้ ต้องขอทานเขากิน

 

          แต่มีข้อบังคับสกัดข้างฝ่ายชายไว้เหมือนกันว่า ถ้าผู้ใดไม่มีบุตรที่จะสืบตระกูล บิดา และปู่ของผู้นั้นจะต้องตกนรก ขุมหนึ่งซึ่งเรียกชื่อว่า ปุต ถ้าลูกของตัวมีภริยา มีบุตรชาย ก็เป็นอันพ้นทุกข์ ถ้ามีหลานเหลนสืบลงไปอีก ทวดปู่และยิดาก็ได้รับผลอันพิเศษเลื่อนขึ้นไปตามลำดับ" 

 

ต่อจากนี้ได้ทรงนำนิทานในคัมภีร์มหาภารตะมาตรัสเล่าไว้ ซึ่ง

มีใจความว่า

 

        "พราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อชรัตกะรุประพฤติพรต  ตั้งความเพียรได้

ฌานสมาบัติ เที่ยวไปนมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ วันหนึ่งไปพบบรรพบุรุษของตนห้อยศีรษะลงมาตรงปากหลุมใหญ่ เท้าชี้ฟ้า ได้รับทุกขเวทนามาก

 

          จึงไถ่ถามไล่เลียงดูบรรพบุรุษนั้นจึงเล่าเรื่องให้ฟังว่า ตนมีบุตรคนหนึ่งชื่อ ชรัตกะรุ เพราะว่าบุตรคนนั้นประพฤติตัวละเว้นการมีภรรยา ไม่มีบุตรสืบสายโลหิต ตนจึงต้องมาลำบากอยู่เช่นนี้ และต่อมา ชรัตกะรุมีภรรยา และบุตร บรรพบุรุษของเขาก็พ้นจากทุกข์ที่กล่าวมาแล้วนั้น"

 

        อันความนิยมของพราหมณ์เช่นนี้ แม้ในคัมภีร์ฝ่ายพระพุทธศาสนาก็มีปรากฏอยู่ เช่นเรื่องพระสุทินในมหาวิภังค์ วินัยปิฎก ซึ่งกล่าวว่า

 

        "พระสุทิน เป็นบุตรกลันทกเศรษฐี ในเมืองเวสาลี ออกบวชเมื่อมีภรรยาแล้ว แต่ยังไม่มีบุตร บิดามารดาจึงอ้อนวอนขอให้กลับมาสู่สมรสอีก ด้วยใคร่จะได้หลานไว้ครองสกุล" 

 

        นี่ก็น่าจะเป็นอันว่า กลันทกเศรษฐีอยู่ในจำพวกพราหมณ์ซึ่ง

มีความนิยมลัทธิอันนี้อยู่เหมือนกัน

 

        ส่วนสายตึงนั้น ได้แก่การทรมานร่างกายด้วยวิธีต่าง ๆ เรื่องนี้หนังสือลัทธิของเพื่อนเขียนไว้ว่า

 

        "ในหนังสือลิลิตวิสูตรกล่าวถึงวิธีทรมานกายในครั้งพุทธกาลว่า มีต่าง ๆ กันเช่นนั่งพับขาอยู่นิ่งในที่เดียวเป็นเวลานาน บ้าง

จำกัดมื้ออาหาร เช่นกินอาหารวันละครั้ง หรือเว้นวันกินครั้งหนึ่ง หรือกินเป็นระยะกำหนดสี่วัน หกวัน หรือสิบสี่วันต่อครั้งหนึ่งบ้าง

 

          นอนบนผ้าเปียก บนถ่านเถ้า บนกรวดหิน บนแผ่นไม้ บนหนามหรือไม่ก็นอนคว่ำเป็นนิตย์ บางคนบำเพ็ญตนเป็นชีเปลือย หรือเอาเถ้าถ่านฝุ่น และโคลนทาตัว บ้างก็สูดควันสูดไฟ เพ่งดูแต่แสงตะวัน หรืออยู่ในที่อันมีไฟทั้ง ๕ ล้อมรอบตัว (คือจุดไฟไว้ที่บริเวณที่โดนแสงอาทิตย์) บ้างก็ยกขาขึ้นข้างหนึ่ง หรือยกมือขึ้นข้างหนึ่ง หรือใช้เดินเข่า นอนบ่มตัวอยู่บนหินที่สุมไฟร้อน บางทีใช้วิธี

อยู่ในน้ำเสมอไป หรือห้อยโหนตัวอยู่กลางหาวก็มี"

 

        อันเหตุที่เขานิยมประพฤติการทรมานกายต่าง ๆ เป็นวัตรเช่นนั้น ก็เพราะเขาถือว่า เดชแห่งการประพฤติวัตรดังนั้น ย่อมบันดาลให้ร้อนถึงพระเป็นเจ้า ๆ เห็นกำลังความเพียรไม่ท้อถอยก็ประสิทธิพรให้ตามความปรารถนา

 

        ข้อนี้ เรื่องในรามายณะ มีปรากฏเป็นพยานอยู่มาก อนึ่งเขาถือว่าการทรมานกาย ดังนั้น เป็นการฟอกวิญญาณให้บริสุทธิ์ ไม่ต้องตกนรก ตายก็ไปเกิดชั้นพรหมโลก อันเป็นชั้นสูงสุดซึ่งเขา ถือว่าไม่ต้องจุติแปรผันต่อไปอีก วิธีทรมานกายต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้แลได้แก่ทุกรกิริยา

 

        และเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาเมื่อแรกทรงผนวช ก็เห็นจะเป็นเพราะพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าขนบธรรมเนียมได้รับความนิยมนับถือของคนทุก ๆ ชั้น

 

        ที่สุดพระเจ้าสุทโธทนพระพุทธบิดาก็ทรงนิยม ด้วยปรากฏว่าได้ทรงอัญเชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คนเข้าไปเลี้ยงในวัง เมื่อวันทรงขนานพระนามพระราชโอรส เป็นต้น แม้พระพุทธเจ้าเองเมื่อยังทรงพระเยาว์ ก็ทรงอบรมศึกษาวิชาในสำนักดาบส ผู้เป็นชาติพราหมณ์อยู่เหมือนกัน

 

        เพราะฉะนั้น พระองค์ก็ย่อมจะทรงทราบว่าลัทธิของพรหมณ์ย่อมมีคุณนิยมนับถืออยู่มาก เมื่อคนหมู่มาก พากันนิยมประพฤติตาม ก็น่าจะมีผลอยู่บ้าง เหตุนี้เมื่อทรงเบื่อหน่ายต่อเพศฆราวาส เสด็จออกทรงบรรพชา จึงได้ทรงลองบำเพ็ญทุกรกิริยา และทรง

กระทำอย่างจริงจัง เวลาล่วงไปถึง ๖ ปี แต่พระองค์มีพระนิสัยไม่งมงาย ไม่หลับตาเชื่ออย่างเขาทั้งหลาย

 

        ซึ่งปรากฏว่าเขากระทำกันอยู่ตลอดชีวิตโดยมาก ทรงเห็นว่าการทรมานร่างกาย ไม่เป็นทางให้ได้ประสบผลดังทรงมุ่งหวัง จึงทรงเปลี่ยนวิธีมาทรมานพระหฤทัย

 

        ที่สุดก็ได้เป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตายสมพระประสงค์

 

        แท้จริง การที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำทุกรกิริยามาในเบื้องต้น ก็ไม่เป็นการไร้ผลเสียทีเดียว เมื่อถึงคราวตรัสสอนผู้ที่มีความนิยมฝังอยู่ในปฏิปทาทั้ง ๒ สายนั้น พระองค์ก็ทรงชี้แจงโทษให้ฟัง โดยอ้างการกระทำของพระองค์

เป็นพยานแรกโปรดพระปัญจวัคคีย์ภิกษุพระองค์จึงสามารถถอนความเชื่อ

 

        ซึ่งท่านทั้ง ๕ นั้น เห็นดิ่งอยู่ในผลของการทรมานกายขึ้นเสียได้โดยง่าย ให้กลับใจมาดำเนินใน ปฏิปทาสายกลาง คือมรรค  ๘  ประการได้สมพระพุทธประสงค์

 

        เหตุนี้การทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา จะจัดว่าเป็นการทรงอบรมบารมีดังที่กล่าวในปัญหานี้น่าจะได้)

 

      ม: “ก็ทำไม ท่านจึงไม่รอให้บารมีแก่กล้าเสียก่อนแล้วจึงเสด็จออกบรรพชาเล่า”

 

      น: “เพราะพระองค์ทรงพิจารณาเห็นหมู่ชนที่เกิดมา พากัน แก่ เจ็บ ตาย ไปเล่า หาได้ทำชีวิตให้เป็นประโยชน์เท่าไรไม่

 

      ยิ่งในหมู่ชนที่มั่งคั่ง ซึ่งโดยมากมีสตรีบำเรอทั้งกลาง วันกลางคืน หมักหมมไปด้วยอารมณ์อันล่อให้หลงและมัวเมา ก็ยิ่งทำให้ชีวิตมันหนักเข้า

 

      เมื่อทรงพิจารณาเห็นดังนี้ ก็ทรงเบื่อหน่ายในการถือเพศเป็นผู้ครองเรือน ทรงเห็นบรรพชาเป็นอุบายที่จะให้ห่างจากอารมณ์นั้น ๆ ได้ และเป็นช่องทางที่จะให้บำเพ็ญปฏิปทา อันเป็นประโยชน์สุขแก่ตนและผู้อื่น ทำชีวิตให้มีผลไม่เป็นหมัน

 

      ขอถวายพระพร เนื่องด้วยพระองค์ ทรงเบื่อหน่าย เพศฆราวาส และทรงเห็นคุณแห่งบรรพชาเพศเช่นนี้แล จึงรีบเสด็จออกบรรพชา

 

      ขอถวายพระพร ในขณะเมื่อพระองค์ ทรงเบื่อหน่ายและดำริจะเสด็จออกบรรพชาอยู่นั้น มีพระยามารตนหนึ่ง (พระยามารในที่นี้ ถ้าจะว่าโดยธรรมาธิษฐาน  ก็น่าจะได้ การที่พระองค์ทรงนึกไปถึงความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์) ทราบ พระดำริดังนั้น จึงรีบมาห้ามปรามว่า อย่าทุกข์ไปเลยอีก ๗ วัน ท่านก็จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์

 

      แต่พระองค์หาทรงยินดีตามถ้อยคำของพระยามารไม่ เพราะ

ทรงเบื่อหน่าย และทรงตัดบ่วงซึ่งเคยผูกรัดพระองค์ได้เด็ดขาดแล้ว”

 

      ม: “นี่เธอ ห่วงผูกรัดสัตว์โลกมีอยู่เท่าไร คืออะไรบ้าง”

     

      น: “มี ๑๐ ห่วง คือ

 

            ๑. มารดา

            ๒. บิดา   

            ๓. บุตร

            ๔. ภรรยา

            ๕. ญาติ

            ๖. มิตร

            ๗. ทรัพย์ 

            ๘. ลาภสักการะ

            ๙. อิสริยยศ 

            ๑๐. กามคุณ

 

      ขอถวายพระพร ห่วง ๑๐ ห่วงนี้แล คล้องสัตว์โลกไว้ไม่ให้ดิ้นออกจากกองทุกข์ได้”

 

      ม: “แม้จะตัดห่วงได้ขาดแล้ว แต่เมื่อบารมียังไม่แก่กล้าก็ควรจะรอไปก่อน จะไม่ได้หรือ”

 

      น: “ขอถวายพระพร โลกย่อมดูหมิ่นบุคคล ๑๐ จำพวกนี้ คือ

 

            ๑) หญิงหม้าย

            ๒) ผู้ไร้ญาติมิตร 

            ๓) คนมีค่าตัวมาก 

            ๔) คนทุพพลภาพ 

            ๕) คนเจ็บ 

            ๖) คนคบคนชั่วเป็นมิตร 

            ๗) คนจน 

            ๘) คนขัดสนอาหาร

            ๙) คนเกียจคร้าน 

            ๑๐) คนแก่ 

 

      ขอถวายพระพร พระมหาบุรุษเจ้าทรงคำนึงถึงบุคคล ๑๐ จำพวกนี้แล้ว ทรงเห็นว่าพระองค์ไม่ควรจะเป็นเช่นเขาทั้งหลายเหล่านั้น 

 

      ควรจะหาโอกาสรีบประกอบความเพียร ไม่ควรจะประมาทอยู่  เหตุนี้พระองค์จึงรออยู่ไม่ได้”

 

      ม: “เมื่อพระองค์ ทรงกระทำทุกรกิริยา ไม่ได้รับผลสมพระประสงค์แล้ว ทรงเฉลียวพระหฤทัยว่า ชะรอยหนทางตรัสรู้จะมีโดยประการอื่นนั้น เป็นด้วยพระองค์เผลอไป หรืออย่างไร”

 

      น: “ขอถวายพระพร บุคคลจะเป็นผู้มีกำลังใจน้อย มีความอ่อนแอก็ด้วยเหตุ  ๒๕ ประการคือ

 

            ๑) ความโกรธ

            ๒) ความผูกโกรธ

            ๓) ความลบหลู่คุณท่าน

            ๔) การตีเสมอท่าน

            ๕) ความริษยา

            ๖) ความตระหนี่

            ๗) มายา 

            ๘) โอ้อวด

            ๙) หัวดื้อ

            ๑๐) แข่งดี

            ๑๑) ถือตัว

            ๑๒) ดูหมิ่นท่าน

            ๑๓) มัวเมา

            ๑๔) ความประมาท

            ๑๕) ความง่วงเหงาหาวนอน

            ๑๖) ความเพลิดเพลิน 

            ๑๗) เกียจคร้าน

            ๑๘) อ่อนแอ

            ๑๙) คบคนชั่วเป็นมิตร

            ๒๐) รูป

            ๒๑) เสียง

            ๒๒) กลิ่น

            ๒๓) รส

            ๒๔) โผฎฐัพพะ

            ๒๕) ความหิวความระหาย

 

      ขอถวายพระพร ก็พระมหาบุรุษทรงผ่อนการเสวยพระอาหารลงโดยลำดับ จนไม่มีพระกำลัง แม้ทรงพยายามถึงปานนั้นก็ยังไม่ประสบผลสมพระประสงค์

     

      พระองค์จึงทรงท้อพระหฤทัยที่จะบำเพ็ญต่อไปอีก และทรงเฉลียวพระหฤทัยว่า ทางตรัสรู้อาจจะมีโดยเหตุอื่น ทรงใคร่ครวญถึงเหตุการณ์ที่พระองค์ ได้ทรงผ่านมาแล้วแต่หนหลัง  ทรงนึกสาวไปถึงคราวเมื่อพระองค์เป็นพระราชกุมารเสด็จประทับอยู่ ณ ภายใต้ต้นหว้าทรงสงบระงับอารมณ์ทั้งหลาย สำรวมจิตมีอารมณ์

เป็นอันเดียวเกิดผลแยบคาย

 

      จึงทรงสันนิษฐานว่า นี้อาจจะเป็นทางตรัสรู้ ต่อแต่

นั้นมา ก็เริ่มทรงบำรุงร่างกายให้เป็นปกติทรงฝึกหัดพระหฤทัยไม่ให้ดิ้นรนเป็นสมาธิจิต

 

      ขอถวายพระพร เป็นด้วยเหตุดังกล่าวมานี้แล หาใช่เป็นด้วยพระองค์ทรงเผลอไปไม่”

 

      ม: “เธอว่านี้ชอบแล้ว”

 

จบทุกรกิริยาปัญหา

 

 

 

Share on Facebook
 
Google

WWW
http://www.thummech.com/
ฟังเพลงออนไลน์ คลิกเลย
 
Copyright © 2013-2015 Thummech All Rights Reserved. 
Powered by  ThaiWebPlus 
คนธรรมดามีความรู้คือคนฉลาด คนฉลาดมีความเข้าใจคือคนธรรมดา