ปัญหาที่ ๘ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นทีเดียวพร้อมกัน ๒ พระองค์ไม่ได้ (ทวินนํ พุทธานํ โลเกนุปปัชชนปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ย่อมมีแนวสอนเป็นอย่างเดียวกันทั้งนั้นมิใช่หรือ”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร ย่อมเป็นเช่นพระองค์ตรัสนั้นแล”
ม: “ถ้าอย่างนั้น จะทรงอุบัติขึ้นในสมัยเดียวกันสัก ๒ พระองค์ จะมิดีกว่านี้หรือ เพราะจะได้ช่วยกันทรงสั่งสอนประหนึ่งไฟสองดวงย่อมเพิ่มแสงสว่างขึ้นฉะนั้น”
น: “ขอถวายพระพร เป็นไปเช่นนั้นไม่ได้ เพราะว่าโลกธาตุย่อมทรงพระพุทธเจ้าไว้ได้แต่พระองค์เดียวเท่านั้น ถ้าจะพึงมีขึ้นถึง ๒ พระองค์ไซร้ โลกธาตุนี้ก็จะพึ่งกระจัดกระจายตั้งอยู่ไม่ได้
เหมือนเรือที่จุได้แต่คนเดียว ถ้าลงถึง ๒ คนเรือก็จะทานน้ำหนักไม่ไหวต้องจมน้ำฉะนั้น อนึ่งถ้าจะมีพระพุทธเจ้าถึง ๒ พระองค์พร้อมกัน เหล่าพุทธบริษัทผู้ยังตัดการถือเราถือเขาไม่ได้ก็จะเกิดเป็น ๒ ฝ่ายขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นในระหว่างคนทั้ง ๒ พวกนั้น ก็จะเกิดมีการวิวาทกันขึ้น
ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐสุด ไม่มีผู้อื่นเสมอ ไม่มีใครเทียมเท่าก็ถ้ามีถึง ๒ พระองค์แล้ว ก็จะเทียมเท่ากันไม่ประเสริฐสุดจริง
เปรียบได้กะของใหญ่ในโลกนี้เช่น แผ่นดิน ฟ้า หรือพญาเขาสิเนรุ ถ้ามีถึง ๒ เทียบเทียมกันได้แล้ว ก็จะไม่ใหญ่ แต่นี่เพราะมี
อย่างละชิ้นเดียว ๆ เท่านั้น จึงจัดเป็นของใหญ่โตได้
ขอถวายพระพร เนื่องด้วยเหตุผลมีอยู่ฉะนี้แล จึงมีพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในสมัยเดียวกันถึง ๒ พระองค์ไม่ได้”
จบทวินนํ พุทธานํ โลเกนุปปัชชนปัญหา
ปัญหาที่ ๙
ข้อความในปัญหานี้ มีใจความเป็นอย่างเดียวกันกับปัญหาที่ ๕ ในวรรคที่ ๔
ปัญหาที่ ๑๐ คนที่ต้องสึกจากพระ (หินายาวัตตนปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน คนบวชแล้วสึก ไม่รู้อะไร ไม่น่าจะให้บวชในพระศาสนา ด้วยว่าจะทำให้คนทั้งหลายกล่าวหาได้ว่า พระศาสนาหาสาระมิได้”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร สระมีน้ำอยู่เต็มเปี่ยม เมื่อผู้ที่เปื้อนเปรอะไปถึงสระนั้นแล้ว ไม่ลงอาบน้ำชำระร่างกายเองเช่นนี้ คนทั้งหลายเขาจะพึงติเตียนสระหรือจะติเตียนผู้นั้น”
ม: “จะติเตียนสระนั้นได้หรือเธอ ต้องเตียนผู้นั้นสิ”
น: “นั่นแลฉันใด นี่ก็ฉันนั้นเหมือนกันคือผู้ที่ไปถึงสระ คือพระสัทธรรม
(พระธรรมอันดี (Good Dhamma) มี ๓ ประการ คือ ๑. พระปริยัติสัทธรรม ได้แก่ คำสอนของพระพุทธองค์ จัดเป็น ๓ หมวด เรียกว่า พระไตรปิฎก (ตะกร้า ๓) ซึ่งเปรียบเหมือนตะกร้าใส่สิ่งของต่างๆ เทียบกับพระเวท ๓ ของพราหมณ์ ไตรปิฎกบรรจุพระพุทธศาสนะ (คำสอน) ปาพจน์ (คำเป็นประธานเป็นหลัก))
โดยอาการที่บวชในพระศาสนาแล้ว แต่มิได้ศึกษาข้อวัตตปฏิบัติ ขัดเกลานิสัย และความประพฤติที่โสมมให้สะอาด แล้วหวนสึกมาถือเพศเป็นฆราวาสประพฤติสิ่งที่ลามก
เช่นนี้คนทั้งหลายเขาก็พึงติเตียนผู้สกปรกเช่นเดียวกันนั้นแล จะไม่มีใคร ซึ่งเป็นผู้มีความคิดกล่าวหาพระศาสนาว่าหาประโยชน์มิได้ฉะนี้เลย เพราะว่าพระศาสนาพระพุทธองค์ได้ทรงขุดสระ คือพระสัทธรรมไว้แล้วด้วยมีพระพุทธประสงค์อยู่ว่า ผู้เปื้อนมลทินคือกิเลสจะได้มีโอกาสชำระล้างกายวาจาใจให้สะอาด
ขอถวายพระพร ดีเสียอีก อันคนบวชแล้วเกียจคร้านต่อการศึกษา และการบำเพ็ญสัมมาปฏิบัติอยู่มิได้ ต้องสึกนั้น ย่อมแสดงให้คนทั้งหลายเห็นว่า พระศาสนาเป็นลัทธิที่สูงบริสุทธิ์ไม่แปดปนด้วยคนที่มีกายวาจาใจสกปรก อันคนที่คร้านต่อการเจริญสมณกิจ ย่อมระอาใจในการที่จะฝั่งตัวอยู่ในลัทธินี้ได้
เป็นอันว่าคนที่จะบวชอยู่ในพระศาสนาได้โดยเย็นใจ ต้องเป็นผู้มั่นคง หนักแน่น ชำระกายวาจาใจสะอาดอยู่เสมอ ต้องบำเพ็ญสัมมาปฏิปทาตามฐานานุรูปของตน
ขอถวายพระพร ก็เมื่อพระศาสนาเป็นลัทธิทรงคุณถึงเช่นนี้ ใครเล่าจะพึงติเตียนได้”
ม: “เธอว่านี้ชอบแล้ว”
จบหินายาวัตตนปัญหา
จบวรรคที่ ๖