ปัญหาที่ ๖ วาสนาของช่างปั้นหม้อ (ฆฏิการปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
‘โรงนายช่างหม้อ ชื่อฆฏิการ มีอากาศเป็นหลังคาตั้งอยู่แล้วตลอด ๓ เดือน ฝนไม่รั่วรดเลย ฉะนี้และตรัสว่า กุฎีพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าฝนตกรั่ว’
ก็ถ้าฟังตามพระพุทธพจน์ทั้ง ๒ นี้ จะมิเป็นอันว่า ช่างหม้อมีวาสนาดีกว่าพระพุทธเจ้าหรือ”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “เป็นไปไม่ได้ ขอถวายพระพร การที่โรงของนายช่างหม้อเป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่านายช่างหม้อเป็นคนมีศีลเลี้ยงมารดาบิดา เคยได้สร้างสมบุญกุศลตลอดมา
และมีเรื่องแสดงไว้ว่า อยู่มาวันหนึ่ง มีผู้มาขนหญ้าหลังคาของเขาไปมุงกุฎีถวายพระกัสสปพุทธเจ้า ภายหลังเขารู้ก็เกิดปีติพลอย อนุโมทนาในกุศลกรรมอันนั้น
(ใน ฆฏิการสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก พรรณานา เรื่องนี้ไว้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสเล่าให้พระอานนท์ฟังว่า
ครั้งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอุบัติขึ้นในโลก มีนายช่างหม้อชื่อฏิฆการ เป็นพุทธอุปฐาก และนายช่างหม้อนั้นมีสหายอยู่ผู้หนึ่งชื่อโชติปาลมาณพ
วันหนึ่งนายช่างหม้อพร่ำชวนโชติปาลมาณพไปเฝ้าพระพุทธเจ้า (ดังข้อความที่ปรากฏในปัญหาที่ ๕ นั้น) ที่สุดโชติปาลมาณพก็ไปเฝ้าและเลื่อมใสออกบรรพชาในพระพุทธศาสนา
ภายหลังพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปถึงแคว้นของพระเจ้ากิงกิสสราชๆ จึงทรงอาราธนาให้เสด็จจำพรรษาอยู่ที่แคว้นนั้น แต่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงรับ ด้วยทรงอ้างว่าพระองค์ได้รับอาราธนาของ นายช่างหม้อผู้อุปฐากเสียแล้ว
แล้วตรัสพรรณนาถึงความดีและความคุ้นเคย ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงมีอยู่กับนายช่างหม้อถวายพระเจ้ากิงกิสสราชว่า พระองค์ได้เคยรับอุปการะจาก เขาหลายอย่าง
ดังคราวหนึ่งฝนตกรั่วรดพระคันธกุฎีเปียก จึงตรัสใช้พระภิกษุไปขนหญ้า ที่นายช่างหม้อมุงหลังคาเรือนไว้ ก็ในขณะนั้น นายช่างหม้อไม่อยู่ อยู่แต่บิดามารดาของเขา เมื่อพระภิกษุได้รับอนุณาต ก็ช่วยกันขนมามุงพระคันธกุฎี
ครั้นนายช่างหม้อกลับมาทราบเรื่องจากบิดามารดา ก็เกิดความปีติปราโมทย์ ในการกระทำของพระพุทธองค์ และเรือนของเขามีอากาศเป็นหลังคาอยู่ตลอด ๓ เดือน ฝนก็ไม่รั่วรดเลยนี้เป็นเรื่องให้เกิดปัญหานี้ )
ส่วนพระพุทธเจ้าที่ตรัสว่ากุฎีของพระพุทธกัสสปฝนรั่วนั้น ก็เป็นด้วยพระพุทธองค์ทรงเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ ประการ คือ ทรงเห็นว่า พระองค์เป็นผู้ควรแก่ทักขิณาทานของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เมื่อทรงปล่อยให้เป็น เช่นนั้นเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักได้มีโอกาส ก่อสร้างบุญกุศล แล้วจักได้พ้นจาก
ความทุกข์ทั้งหลาย
อีกประการหนึ่ง คนทั้งหลายจักติเตียนไม่ได้ว่า พระพุทธเจ้า
ทรงทำที่อยู่อาศัยด้วยพระองค์เอง)
ขอถวายพระพร อาศัยอำนาจประโยชน์ ๒ ประการนี้แล พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงปล่อยให้กุฎีรั่วเช่นนั้น”
ม: “ชอบละ”
จบฆฏิการปัญหา
ปัญหาที่ ๗ พระพุทธเจ้าเป็นพระราชาด้วย เป็นพราหมณ์ด้วย (ภควโตราชปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าเคยตรัสกะภิกษุทั้งหลายในบางคราวว่า พระองค์เป็นพราหมณ์ ดังนี้มิใช่หรือ”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร ตรัสดังนั้นจริง”
ม: ถ้าอย่างนั้น ทำไมเมื่อตรัสกะเสละพราหมณ์ จึงตรัสว่า พระองค์เป็นกษัตริย์เล่า (พึงดูเรื่องเดิมที่เชิงอรรถแห่งปัญหาที่ ๑ วรรคที่ ๓)
น: “ขอถวายพระพร เหตุว่าพระพุทธองค์เป็นทั้งพราหมณ์เป็นทั้งกษัตริย์”
ม: “ตามพระพุทธประวัติก็ปรากฏว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติในสกุลกษัตริย์ แต่นี่ทำไมเธอจึงกล้ามายืนยันว่าพระองค์เป็นพราหมณ์ด้วยอีกเล่า”
น: “ขอถวายพระพร ก็พวกพราหมณ์มีวัตตจริยาอย่างไร เขาจึงได้ชื่อเช่นนั้น”
ม: “พวกพราหมณ์เขาก็มีวัตร คือถือการยืนการเดินไม่นั่งไม่นอนเป็นต้น และเขามีพิธีลอยบาปทุกปี คือลงสระเกล้าชำระกายในแม่น้ำ ซึ่งเขาถือว่าได้ลอยบาปไปตามกระแสน้ำแล้ว และทั้งมีเวท คือตำรับแสดงกิจในศาสนาอยู่ ๓ เวท
ผู้ใดเรียนจบเวททั้ง ๓ นั้นแล้ว ชื่อว่าถึงที่สุดเวท นี่แลเธอองค์คุณเหล่านี้ที่จัดแบ่งวรรณะพวกนั้นเป็นพราหมณ์”
น: “ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าก็มีพระพุทธจริยาบางอย่างเช่นนั้นเหมือนกัน คือ ทรงสมาทานธุดงค์ เช่นบางครั้งทรงถือการจงกรมเป็นวัตร และทรงชำระบาปอกุศลทั้งหลาย จนพระสันดานหมดจดผ่องใสอยู่เป็นนิตย์ ซึ่งเป็นเช่นเดียวกันกับการลอยบาปของพราหมณ์และทั้งพระองค์ได้ตรัสรู้วิชา ๓ เยี่ยงเดียวกับพราหมณ์ถึงสุดเวทนั้น
อนึ่งพระพุทธองค์ทรงเป็นกษัตริย์โดยพระชาติ เพราะทรงอุบัติในวงศ์ศากยราช และโดยพระอัธยาศัยเพราะทรงเป็นนักรบที่กล้าหาญสามารถทรงต่อสู้มาร และเสนามารโดยลำพังพระองค์ผู้เดียวจนข้าศึกนั้น ๆ พ่ายแพ้ไม่มีมาผจญพระองค์ได้อีกเลย ทรงยกเศวตฉัตรอันขาวบริสุทธิ์คือ วิมุตติธรรม (ธรรมของการหลุดพ้น) ประกาศความเป็นราชา เพราะธรรม ให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายทราบ
ขอถวายพระพร ก็เมื่อพระพุทธองค์ทรงคุณสมบัติถึงเช่นนี้แล้ว จะไม่ยอมรับว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นพราหมณ์ ทรงเป็นกษัตริย์อย่างไร”
ม: “จริงอย่างเธอว่า”
จบภควโตราชปัญหา