ปัญหาที่ ๑๐ มรรคเป็นของเก่า หรือของใหม่ (อนุปันนมัคคอุปปาทปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธพจน์มีอยู่ว่า
‘เราตถาคต เป็นผู้ยังมรรค (ทาง, เหตุ: way, path, one of the four noble truths of Buddhism) ที่ยังไม่เกิดให้เกิดให้เกิดขึ้นแล้ว’
ฉะนี้มิใช่หรือ”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร มีอยู่เช่นนั้น”
ม: “ก็ถ้าเช่นนั้น จะมิแย้งกับพระพุทธพจน์ที่ว่า
‘เราตถาคตได้เห็นมรรคของเก่า ทางของเก่า อันพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อนเสด็จดำเนินมาแล้ว’
ฉะนี้หรือ”
น: “ขอถวายพระพร ไม่แย้ง เพราะว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อนเสด็จเข้านิพพานไปแล้ว ศาสนาก็อันตรธานเสื่อมสูญไป โดยไม่มีใครสั่งสอน และปฏิบัติกันสืบมา เมื่อเป็นเช่นนั้น มรรคคือหนทางที่พระพุทธเจ้านั้น ๆ ได้เสด็จดำเนินมา ก็เลอะเลือนเสื่อมสูญไป
ครั้นมาถึงวาระที่พระศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงอุบัติขึ้น มรรค คือหนทางอย่างเดียวกับของเก่านั้น ๆ ก็เกิดขึ้นมา
ด้วย เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เราตถาคตเป็นผู้ยังมรรคที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้นแล้ว
ขอถวายพระพร ความข้อนี้ เปรียบเหมือนหนทางที่กรุยและ
ปราบเรียบร้อยแล้ว ต่อมาปล่อยให้รกเดินไม่ได้ ภายหลังมีผู้ทำให้เตียนขึ้นได้อีกฉะนั้น”
ม: “เธอฉลาดว่า”
จบอนุปันนมัคคอุปปาทปัญหา
จบวรรคที่ ๕
วรรคที่ ๖
ปัญหาที่ ๑ ทางสายกลาง (ปฏิพทาโทสปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าเมื่อก่อนตรัสรู้ ได้ทรงพยายามกระทำทุกรกิริยา ทรงได้รับความยากลำบากต่างๆ แต่ก็มิได้ตรัสรู้มิใช่หรือ”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร เป็นดังพระองค์ตรัสนั้นแล”
ม: “ถ้าอย่างนั้น เหตุไฉนพระพุทธองค์จึงตรัสสอนสาวกว่า
‘ท่านทั้งหลาย จงพากเพียรจงพยายามทำกิจในพระพุทธศาสนา จงกำจัดมาร และและเสนามารเสีย ซึ่งเป็นปฏิปทาที่ต้องประสบความยากลำบากทั้งนั้น’
ฉะนี้อีกเล่า”
น: “เหตุว่าปฏิปทานั้นแล เป็นทางทำให้พระองค์บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ (ความเป็นผู้รู้หมดสิ้น) ขอถวายพระพร ก็แต่ว่า เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่นั้น พระองค์ทรง
ประกอบความเพียรเกินไป ซึ่งถึงกับไม่เสวยพระกระยาหารเสียเลย
เมื่อทรงอดอาหารเสียเช่นนั้น พระกำลังก็ไม่มี พระหฤทัยก็กระสับกระส่ายไม่เป็นเอกัคคตารมณ์ (อารมณ์ที่ดี ปกติ)ได้ เพราะเหตุนี้พระพุทธองค์จึงไม่ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ
ต่อเมื่อพระองค์ทรงเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยานั้นเสีย แล้วทรงดำเนินในปฏิปทาทางสายกลาง จึงได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ความข้อนี้เปรียบเหมือนผู้บริโภคอาหาร ถ้าบริโภคมากเกินไป ก็ไม่ได้รับความสุข ต่อเมื่อบริโภคพอเหมาะพอดี จึง
จะเกิดความสุขและเป็นคุณประโยชน์แก่ร่างกายฉะนั้น”
ม: “ฟังได้”
จบปฏิพทาโทสปัญหา