ปัญหาที่ ๑๐ ทรงยกย่องพระพากุละ (ยาจโยคปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธพจน์มีอยู่ว่า
‘พระองค์เป็นผู้ประเสริฐที่สุด ไม่มีใครเทียมเท่า’
ฉะนี้มิใช่หรือ”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร ตรัสดังนั้นจริง”
ม: “ถ้าอย่างนั้น เหตุไฉนพระองค์จึงตรัสยกย่องพระพากุละว่า เป็นผู้เลิศในฐานะที่เป็นผู้มีอาพาธ (ป่วยไข้) น้อย เล่า”
น: “ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้า เป็นผู้ประเสริฐไม่มีใครจะเลิศเท่า ทั้งนี้ ก็เพราะว่าพระองค์เป็นสัพพัญญูรู้ธรรมทั้งหลาย
ยิ่งกว่านี้พระองค์ทรงใช้ธรรมเหล่านั้นมาหล่อเลี้ยงรักษาพระหฤทัยของพระองค์ และทรงแนะนำสั่งสอนให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม
ส่วนพระพุทธพจน์ที่ตรัสชมพระพากุละนั้น ก็ด้วยมีพระพุทธประสงค์จะทรงยกผลแห่งกุศล ที่ท่านได้กระทำการพยาบาล พระพุทธเจ้า และพระสาวก เมื่อครั้งเกิดในศาสนาพระอโนมทัสสีคราว ๑ เมื่อครั้งเกิดในศาสนาพระวิปัสสีคราว ๑”
ม: “ฟังได้”
จบยาจโยคปัญหา
จบวรรคที่ ๔
วรรคที่ ๕
ปัญหาที่ ๑ อำนาจฤทธิ์ กับบาป (อิทธิยากัมมวิปากปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน บรรดาพุทธสาวก พระโมคคัลลานะ เป็นผู้มีฤทธิ์มากกว่าพุทธสาวกองค์อื่น ๆ มิใช่หรือ”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร เป็นดังพระองค์ตรัสนั้นแล”
ม: “แต่อย่างไรตามเถรประวัติจึงว่า พระโมคคัลลานะถูกพวกโจรรุมกันทุบตาย ก็ถ้าท่านมีฤทธิ์มากจริงเช่นนั้น เหตุไฉนจึงไม่หนีพวกโจรให้พ้นเล่า”
น: “ขอถวายพระพร เหตุที่ท่านหนีพวกโจรไม่พ้น ก็เพราะบาปกรรมซึ่งท่านได้กระทำไว้ในชาติก่อนมาตามทัน
(อรรถกาธรรมบท แสดงบุพพกรรมของพระโมคคัลลานะเถระไว้ว่า เมื่อครั้งพระโมคคัลลานะเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองพาราณสี ถูกภรรยายุยงให้ฆ่าบิดามารดา ด้วยความหลงเชื่อภรรยาจึงนำบิดามารดาไปกลางป่าทุบตีเสียจนตาย แต่บางปกรณ์ เช่น ชาดก ว่าไม่ถึงตาย)
กำลังแห่งฤทธิ์จึงไม่สามารถต้านทานไว้ได้”
ม: “ฤทธิ์กับบาปก็ย่อมมีวิสัยเป็นอย่างเดียวกันนี่เธอ คือเป็นอจินไตย (พ้นจากความคิด, ไม่ควรคิด) ไม่ควรคิดเหมือนกันเป็นอันว่ามีคติเท่ากัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อาจทัดทานกันได้ เปรียบเหมือนผู้บริโภคผลมะม่วงแล้ว เอาผลมะม่วงอีกผลหนึ่งมาทุบต่อยมะม่วงที่จะบริโภคนั้น จะสำเร็จผลได้อย่างไร”
น: “ขอถวายพระพร ฤทธิ์กับบาปมีวิสัยเช่นเดียวกันดังพระองค์ตรัสนั้นก็จริง แต่ว่าเมื่อบาปที่ตามมาทัน มีกำลังมากกว่า แล้วฤทธิ์ ก็ไม่สามารถจะทานไว้อยู่ เช่นเดียวกับไฟถ้าลุกมากมายเสียแล้ว จะเอาน้ำเพียงหม้อหนึ่งสองหม้อมารดก็ย่อมสู้กำลังไฟไม่ได้ ฉะนั้น”
ม: “เธอฉลาดว่า”
จบอิทธิยากัมมวิปากปัญหา
|