ปัญหาที่ ๒ พระดำรัสของพระพุทธเจ้าเป็นสุจริต (ตถาคตผรุสวาจนนัตถีติปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน พระสารีบุตรกล่าวไว้ว่า
‘พระพุทธเจ้ามีพระมรรยาทอ่อนโยน พระวาจาอ่อนหวาน’
ฉะนี้มิใช่หรือ”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร เป็นดังพระองค์ตรัสนั้นแล”
ม: “ถ้าอย่างนั้น เหตุไฉนพระพุทธองค์จึงตรัสเรียกพระสุทินกลันทก โดยทรงใช้คำว่า "โมฆบุรุษ" (บุรุษเปล่า) บุตรเล่า”
(พระสุทินเป็นบุตรเศรษฐีในเมืองเวสาลี ออกบวชเมื่อมีภรรยาแล้วแต่ยังไม่มีบุตร บิดาวิงวอนขอให้กลับไปสู่สมรสด้วยใคร่จะได้หลานไว้ครองสกุล พระสุทินไปกระทำตามความประสงค์ของบิดา เรื่องนี้เป็นต้นบัญญัติของปฐมปาราชิกสิกขาบท
ฝ่ายรุกขเทวดารู้ว่าเขาจะมาตัดต้นสะคร้อ เพราะหมีเป็นเหตุ จึงแปลงเพศเป็นบุรุษไปหาภารทวาชพราหมณ์ไต่ถามความประสงค์แล้วจึงแนะนำ
เมื่อเอาไม้สะคร้อไปทำรถ ถ้าได้หนังคอหมีมาหุ้มกงรถ กงรถจะมั่นคงดีนัก ที่สุดพราหมณ์ก็กระทำตามคำแนะนำของเทวดาและหมี ชาดกนี้พระพุทธองค์ทรงนำมาเป็นตัวอย่างแห่งการผูกเวรซึ่งกันและกัน)
น: “ขอถวายพระพร อันลักษณะแห่งคำว่าโมฆบุรุษนั้น หยาบคายจริง แต่การที่พระพุทธองค์ทรงนำมาตรัสเรียกพระสุทินผู้กระทำผิดนั้น หาจัดเป็นคำหยาบไม่
เพราะพระองค์ตรัสด้วยมีพระฤทัยกอบด้วยเมตตากรุณา ประหนึ่งคำที่มารดาบิดาด่าว่าบุตรผู้กระทำผิดด้วยหวังจะสั่งสอนฉะนั้น”
ม: “ธรรมดาผู้ที่ด่าเขา แม้จะว่าไปตามความจริง ก็จัดว่าผิดนี่เธอ”
น: “ตามที่พระองค์ตรัสนั้น ผู้ด่ามีความเจตนาร้ายต่อผู้กระทำผิด ซึ่งผิดกับพระหฤทัยของพระพุทธเจ้า อันประกอบไปด้วยพรหมวิหารธรรม
ขอถวายพระพร อาตมภาพขอทูลถามพระองค์ว่า ผู้กระทำผิดควรจะได้รับสักการะหรือได้รับโทษ”
ม: “ก็ต้องรับโทษตามกระทงแห่งความผิดสิเธอ”
น: “ถ้าเป็นเช่นนั้น เพียงคำว่าโมฆบุรุษ ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสใช้เป็นคำเรียกพระสุทินผู้กระทำผิดนั้น จะจัดว่าพระองค์ตรัสคำหยาบจะได้หรือ
ขอถวายพระพร พระพุทธองค์ย่อมมีพระมรรยาทงามอ่อนโยน พระวาจาไพเราะจับใจ พระหฤทัยเฉียบแหลมฉลาดในวิธีที่จะทรงสั่งสอน เมื่อทรงเห็นว่า ประชุมชนจะได้บรรลุมรรคผล
หรือที่สุดเพียงจะให้ละพยศอันร้าย ได้ด้วยวิธีใด ก็ทรงใช้วิธีนั้น เพราะทรงมุ่งเฉพาะแต่ผลอันดีงาม เป็นประโยชน์สุขแก่เวไนยสัตว์เท่านั้น”
จบตถาคตผรุสวาจนนัตถีติปัญหา
ปัญหาที่ ๓ หมีกับไม้สะคร้อ (รุกขเจตนาเจตนปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าตรัสว่า
‘ต้นไม้ไม่มีเจตนา เจรจาไม่ได้ ฉะนี้’
แต่เหตุไรจึงตรัสว่า ต้นสะคร้อพูดกับพราหมณ์ (เรื่องเดิม (ผันทนชาดก เตรสนิบาต) มีอยู่ว่า มีหมีตัวหนึ่ง นอนหลับอยู่ที่ใต้ต้นสะคร้อ เผอิญลมพัดกิ่งสะคร้อแห้งหักลงมาทับคอหมี หมีเข้าใจว่า เทวดาผู้สิงที่ต้นสะคร้อข่มเหง จึงผูกพยาบาท วันหนึ่งหมีได้นำภารทวาชพราหมณ์ผู้เป็นช่างไม้ไปที่ต้นสะคร้อ เพื่อจะให้ตัดทำลายวิมานเทวดาเสียให้สมแค้น) ฉะนี้อีกเล่า ฟังดูไม่สมกันเลย”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร พระพุทธพจน์ในตอนต้นนั้น พระองค์ตรัสตามความเป็นจริง เพราะว่าต้นไม้ไม่มีจิตใจจึงพูดไม่ได้
ส่วนคำว่าต้นสะคร้อในคำหลังนั้น พระองค์ทรงหมายถึงเทวดาผู้ซึ่งสิงอยู่ที่ต้นไม้นั้น และที่ตรัสเป็นคำสามัญ ดังนั้น ก็เพราะตรัสตามโลกบัญญัติ
เหมือนคำที่เรียกกันว่า เกวียนข้าวเปลือก ซึ่งที่จริงเป็นเกวียนบรรทุกข้าวเปลือก หาใช่เกวียนทำด้วยข้าวเปลือกไม่”
ม: “เข้าใจละ”
จบรุกขเจตนาเจตนปัญหา