ปัญหาที่ ๘ พระเทวทัตทำให้สงฆ์แตกแยก (ตถาคตอเภชชปริสปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน ที่เธอว่าพระพุทธเจ้ามีบริษัทปรองดองพร้อมเพรียงกันดีนั้น จริงหรือ”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร จริง”
ม: “ถ้าจริง เหตุไฉนพระเทวทัตจึงชักชวนพระภิกษุพุทธบริษัทตั้ง ๕๐๐ แยกหมู่แยกคณะออกไปได้เล่า”
น: “เพราะเหตุเครื่องทำลายหมู่คณะมีอยู่ ขอถวายพระพร เมื่อเหตุ (เหตุที่จะให้พระเทวทัตทำลายคณะสงฆ์นั้น ในอรรถกถาธรรมบทและในชาดกว่า "เนื่องด้วยหมู่ชนเห็นพระเทวทัตทำร้ายพระพุทธเจ้าด้วยประการต่างๆ มีกลิ้งหิน เป็นต้น ก็สิ้นความนับถือพระเทวทัตแม้จนภักษาหารก็ไม่มีใครถวาย
เมื่อพระเทวทัตได้รับความหายนะเช่นนั้น ก็คิดหาอุบายที่จะกลบความชั่วของตน จึงเข้าไปทูลพระพุทธเจ้าขอให้ทรงบัญญัติวัตถุ ๕ ประการ ให้เป็นปฏิปทาชั้นอุกฤษฏ์ขึ้น คือ :-
๑) ภิกษุพึงถือการอยู่ป่าตลอดชีวิตเข้ามาอยู่ในแดนบ้านไม่ได้
๒) ภิกษุพึงถือการเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต รับนิมนต์ไม่ได้
๓) ภิกษุพึงถือทรงผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต รับจีวรของพวกคฤหบดีไม่ได้
๔) ภิกษุพึงถือการอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต เข้าไปสู่ที่มุงที่บังไม่ได้
๕) ภิกษุไม่พึงฉันปลาและเนื้อแต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอำนวยตาม (เห็นจะทรงเกรงว่าจะกลายเป็นอัตตกิลมถานุโยค การทำตนให้ลำบากเปล่า และทรงเห็นว่า พระภิกษุมีอาชีพเนื่องด้วยผู้อื่น) พระเทวทัตจึงประกาศความข้อนั้นกะคณะสงฆ์ว่า ภิกษุรูปใดใคร่จะพ้นจากทุกข์ ก็ทรงมาประพฤติพรหมจรรย์ในเราฯ ฝ่ายพระภิกษุที่บวชใหม่และโง่เขลา เมื่อทราบปฏิปทาซึ่งพระเทวทัตคิดเห็นดังนั้นก็พลอยเห็นดีไปด้วยจึงย้ายไปอยู่ในปกครองของพระเทวทัต"ฯ)
อย่างนั้นมีอยู่ แม้มารดาบิดาก็ย่อมแตกต่างจากบุตร การที่บัณฑิตทั้งหลายสรรเสริญพระพุทธเจ้าว่า มีบริษัทไม่แตกต่างพร้อมเพรียงกันดี ก็เป็นด้วยเหตุพระพุทธจรรยาอันบริบูรณ์ ด้วยสังคหวัตถุธรรม ๔ ประการ
๑) ทาน การให้ปันสิ่งของๆ ตนแก่ผู้ที่ควรให้ปัน
๒) ปิยวาจา เจรจาวาจาที่อ่อนหวาน
๓) อัตถจริยา ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
๔) สมานัตตา ความเป็นคนมีตนเสมอไม่ถือตัว ซึ่งเป็นธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวหัวใจให้กลมเกลียวกันได้”
ม: “เธอฉลาดว่า”
จบตถาคตอเภชชปริสปัญหา
ปัญหาที่ ๙ คนไม่รู้จักบาป (อชานนโตปาปกรณอปุญญปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน คำที่เธอว่าคนไม่รู้จักบาปทำบาป จะบาปมากนั้น จะมิแย้งกับพระพุทธบัญญัติที่ว่า อาบัติย่อมไม่มีแก่พระภิกษุผู้ไม่รู้หรือ”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ไม่แย้ง คำที่อาตมภาพทูลไปแล้วนั้น กล่าวตามปรกติแห่งคนที่ไม่รู้จักบาป ขอถวายพระพร อันคนที่ไม่รู้จักบาปนั้น ย่อมไม่มีความละอายในการที่ตนกระทำชั่ว และย่อมไม่กลัวต่อผลของความชั่วนั้นๆ สมัครใจทำเท่าใด ก็ย่อมทำได้เท่านั้น
เมื่อการกระทำความชั่วมาก ก็ต้องรับผลของความชั่วมากตามกัน เพราะฉะนั้นอาตมภาพจึงทูลว่าคนไม่รู้จักบาปทำบาป บาปมาก ส่วนพระพุทธบัญญัตินั้นมีบางสิกขาบทซึ่งเมื่อภิกษุละเมิดโดยมิได้เจตนาเช่นกล่าวเท็จโดยสำคัญผิด ท่านก็ไม่ปรับอาบัติแก่ภิกษุรูปนั้น”
ม: “เธอว่านี้ชอบแล้ว”
จบอชานนโตปาปกรณอปุญญปัญหา