ปัญหาที่ ๖ พระพุทธเจ้าทรงทำประโยชน์แก่หมู่สัตว์ (สัพพสัตตหิตจรณปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน คำที่เธอว่า
‘พระพุทธเจ้าทรงนำเฉพาะแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขมาให้แก่ประชาชนนั้น’
จริงเสมอไปหรือ”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร จริงเสมอ”
ม: “ถ้าจริงเสมอ ทำไมพระพุทธองค์จึงทรงแสดงอัคคิขันโธปมสูตร
(พระสูตรนี้มาในสัตตกนิบาตอังคุตตนิกาย มีใจความว่า ‘วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปทอดพระเนตรเห็นไฟกองใหญ่ ซึ่งกำลังสุกโชนอยู่ จึงดำรัสสั่งให้พระภิกษุทั้งหลายดูแล้วทรงเปรียบให้ฟังว่า ไฟแม้จะร้อนสักเพียงไร ก็ยังร้อนไม่เท่าความร้อนซึ่งเป็นผลแห่งความชั่ว’ ในพระสูตรนั้นกล่าวต่อไปว่า เวลานั้นมีภิกษุส่วนหนึ่งจำนวน ๖๐ รูปเป็นผู้ละเมิดพระพุทธบัญญัติล่วงปฐมปาราชิกสิกขาบท เมื่อได้ฟังพระพุทธโอวาทดังนั้น ต่างก็กระอักเลือดออกมา)
ซึ่งเกิดผลร้ายจนถึงกระทำให้พระภิกษุตั้ง ๖๐ รูปกระอักเลือดเล่า”
น: “ขอถวายพระพร การที่ภิกษุทั้ง ๖๐ รูปกระอักเลือดนั้นเป็นเพราะความชั่วที่ตัวกระทำไว้ตามมาให้ผลต่างหาก”
ม: “ถึงเช่นนั้น ถ้าพระพุทธองค์ไม่ทรงแสดงพระสูตรนั้น ท่านเหล่านั้นก็คงไม่กระอักเลือด”
น: “ก็ถ้ากระอักเลือดเป็นเป็นเพราะการทรงแสดงพระสูตรนั้นไซร้ ไฉนพระภิกษุเหล่าอื่น จึงไม่เป็นเช่นนั้นด้วยเล่า ขอถวายพระพร นี่เพราะเป็นด้วยผลของความชั่วที่ตัวกระทำเป็นเหตุ จึงเกิดผลร้ายเฉพาะแต่พวกเหล่านั้น”
ม: “แต่ความเห็นข้าพเจ้าว่า ถ้าพระพุทธองค์ไม่ทรงแสดงพระสูตรนั้นเสียเลย ผลร้ายอันนั้นก็คงจะไม่มีเป็นแน่”
น: “อาตมภาพจะเปรียบถวาย ธรรมดาช่างไม้ ถ้ามัวเสียดายเนื้อไม้อยู่ จะกระทำไม้ที่คดที่งอให้ตรงได้หรือไม่”
รูปเปรียบกับช่างไม้กำลังใช้กบไสไม้ให้ตรง
ม: “ไม่ได้สิเธอ ตรงไหนคดงอมีงอนก็ต้องถากทิ้งเสีย ไม้นั้นจึงจะตรงได้ตามความประสงค์”
น: “ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าก็เป็นเช่นเดียวกันกับช่างไม้นั้นแล คือพุทธบริษัทเหล่าใดคดงอจนทรงกระทำให้ตรงด้วยอาการปรกติไม่ได้ พระองค์ก็ต้องถากทิ้งเสียโดยทำนองที่ทรงแสดงโทษของความชั่วอย่างหนัก ให้เกิดความเกรงกลัว และให้ได้รับโทษเพื่อจะให้หลาบจำไม่กระทำต่อไปอีก
อนึ่ง ถ้าพระพุทธองค์จะมัวทรงคำนึงถึงความทุกข์เฉพาะของพระภิกษุ ๖๐ รูปนั้นแล้วไม่แสดงพระสูตรนี้ พระภิกษุอีกจำนวนมากก็จะไม่ได้บรรลุมรรคผลตามโอกาสอันควรของตน
ขอถวายพระพร ที่มิเป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่าพระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า การแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องนี้ เหมาะแก่ที่จะดัดนิสัยของผู้ฝ่าฝืนพระพุทธบัญญัติให้ละความประพฤติอันนั้น กลับใจมาดำเนินทางตรง แล้วบรรลุมรรคผลตามอุปนิสัยสามารถของตน ๆ
ขอถวายพระพร เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องจัดว่า พระพุทธองค์ทรงนำเฉพาะแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขมาแก่ประชุมชนทั้งนั้น”
ม: “จริงอย่างเธอว่า”
จบสัพพสัตตหิตจรณปัญหา
ปัญหาที่ ๗ โลกุตรธรรมอันประเสริฐ (เสฏฐธัมมปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ‘โลกุตรธรรม (ธรรมที่พ้นวิสัย หรือเกินความสามารถของทางโลก มี ๙ ข้อ คือ มรรคมี ๔ ข้อ (คือ ๑.โสดาปัตติมรรค ๒.สกิทาคามิมรรค ๓.อนาคามิมรรค ๔.อรหัตมรรค) ผลมี ๔ ข้อ (คือ ๕.โสดาปัตติผล ๖.สกิทาคามิผล ๗.อนาคามิผล ๘.อรหัตผล) และ ๙.นิพพาน) เป็นธรรมประเสริฐสูงสุด’ ดังนี้มิใช่หรือ”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร เป็นดังพระองค์ตรัสนั้นแล”
ม: “ถ้าอย่างนั้น เหตุไฉนฆราวาส ที่เป็นโสดาบันซึ่งได้บรรลุโลกุตรธรรมขั้นต้นแล้ว จึงต้องกราบไหว้พระภิกษุสามเณรที่ยังเป็นปุถุชนอยู่เล่า”
น: “ขอถวายพระพร เหตุว่าพระภิกษุหรือสามเณรเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสมณเพศอันเป็นเพศสูงสุด เพราะกอบด้วยคุณธรรมมากอย่างมากประการ
ส่วนฆราวาสนั้นแม้จะได้บรรลุคุณธรรมมีภูมิสูงกว่า แต่ก็เป็นเพศที่มีคุณธรรมต่ำกว่า เพราะฉะนั้นจึงต้องกราบไหว้พระภิกษุสามเณร ซึ่งทรงเพศอันบริบูรณ์ด้วยคุณธรรมทั้งหลาย
เปรียบเหมือนพระราชกุมารทรงศึกษาศิลปวิทยาในสำนักปุโรหิต ครั้นถึงสมัยเมื่อได้ขึ้นทรงราชย์แล้ว ก็ยังควรกระทำความเคารพปุโรหิตผู้มีสกุลต่ำกว่าแต่มีฐานะเป็นอาจารย์ฉะนั้น”
ม: “เข้าใจละ”
จบเสฏฐธัมมปัญหา