ปัญหาที่ ๔ พลังของพระปริตร กันความตายได้ (มัจจุปาสามุตติกปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน คำที่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า
‘พระปริตร (มีระบุชื่อพระปริตรไว้ดังนี้ ขันธปริตรสุวัตถิ ปริตร โมรปริตร ธชัคคปริตร อาฏานาฏิยปริตร) อันบุคคลสาธยายอยู่ย่อมป้องกันความตายได้’
นั้น จริงหรือ”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร จริง”
ม: “ถ้าเช่นนั้น จะมิแย้งกับพระพุทธดำรัสที่ตรัสว่าบุคคลจะอยู่ในที่ใด ๆ ก็ตาม ย่อมหนีความตายไม่พ้นนั้นไปหรือ”
น: “ขอถวายพระพร ไม่แย้ง ที่มีพระพุทธดำรัสว่าการสวดพระปริตรย่อมป้องกันความตายให้นั้น พระพุทธองค์ทรงมุ่งหมายเฉพาะผู้ที่พอจะต่ออายุให้ยั่งยืนสืบไปได้เท่านั้น
หาได้ทรงหมายถึงว่า จะเป็นอุบายให้หนีความตายได้พ้นตลอดไปไม่ เพราะคนที่ถึงวาระที่จะต้องตายแล้วย่อมไม่มีอะไรป้องกันแม้จะหนีไปอยู่ในอากาศหรือในมหาสมุทร หรือในซอกห้วยซอกเขา ก็หนีความตายไม่พ้น”
ม: “เธอจงเปรียบให้ฟัง”
น: “ขอถวายพระพร คนที่ถึงวาระจะต้องตายเหมือนต้นไม้แก่ แม้จะมีคนพยายามเอาน้ำไปรด ก็ไม่กลับฟื้นขึ้นมาได้ ส่วนคนที่พอจะต่ออายุให้ยั่งยืนสืบไปได้ด้วยอำนาจการสวดพระปริตรเหมือนไม้ที่เฉาเพราะดินแห้งเมื่อเอาน้ำไปรด ต้นไม้นั้นก็ย่อมจะกลับฟื้นงามขึ้นอีกได้ฉะนั้น”
รูปเปรียบกับต้นไม้
ม: “ดูก่อนพระนาคเสน การสวดพระปริตรจะต่ออายุคนได้อย่างไร”
น: “ขอถวายพระพร การสวดพระปริตรเป็นประหนึ่งยาหอม สำหรับชะโลมหัวใจ ทำหัวใจของผู้ป่วยเจ็บให้ชุ่มชื่น เช่น สวดธชัคคปริตร (ใจความในธชัคคปริตรว่า พระพุทธเจ้าตรัสกะภิกษุบริษัท ถึงเรื่องพระอินทรตรัสเตือนเทวดาผู้ไปสงคราม (คราวเทวดารบกับอสูร) เพื่อไม่ให้หวาดหวั่นต่อพวกอสูรว่า ถ้าพวกท่านเกิดความหวาดกลัวขึ้น พึงดูยอดธงของเราหรือของเทวดาแม่ทัพ แล้วพระพุทธองค์ทรงนำเค้าเรื่องนั้นมาตรัสสอนพระภิกษุว่า หากพวกเธอเกิดความหวาดกลัวขึ้น พึงระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์)
ถ้าผู้เจ็บสามารถส่งใจไปตามแนวแห่งปริตรน้อมนึกถึงข้อความถึงเหตุผลแห่งพระคุณของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในบทนั้น ๆ ที่สุดแม้แต่บทเดียวได้ ใจก็จะไม่ไปเกาะเกี่ยวอยู่ที่ป่วยเจ็บฟื้นจากความหดหู่มารื่นเริงในพระคุณนั้นๆ ทันทีนั้นใจก็ชุ่มชื่นได้กำลังขึ้น เมื่อมีกำลังใจประคองร่างกายอยู่ กำลังกายที่ตั้งขึ้นได้
ขอถวายพระพร ถ้ากำลังกาย กำลังใจต่อสู้โรค ได้แล้วก็เป็นอันว่าหนีความตายพ้นไปได้คราวหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีกำลังเช่นนั้นพอจะสู้ โรคได้แล้วก็ย่อมหนีความตายไม่พ้น แม้ถึงเช่นนั้นการสวดพระปริตรก็ยังเชื่อว่าไม่ไร้ผล เพราะผู้ตายด้วยอาการชุ่มชื่นเช่นนั้นย่อมหวังสุคติได้”
ม: “ต่อได้จริง”
ฟังเสียงสวดพระปริตร สมเด็จพระญาณสังวร
จบมัจจุปาสามุตติกปัญหา
ปัญหาที่ ๕ ลาภของพระพุทธเจ้า (ภควโต ลาภันตรายปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน ที่เธอว่าพระพุทธเจ้ารวย จีวร-บิณฑบาต-เสนาสนะ-คิลานเภสัช (ยารักษาโรค) นั้นจริงหรือ”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร จริง”
ม: “ถ้าจริง ทำไมเมื่อพระพุทธองค์เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านปัญจสารคาม (เรื่องนี้ พระพุทธโฆษจารย์เล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทว่า คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยที่จะได้เป็น พระโสดาบันของเหล่านางกุมาริกาชาวปัญจสารคาม จึงเสด็จเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านนั้น วันหนึ่งเป็นวันนักขัตฤกษ์พระพุทธองค์เสด็จไปบิณฑบาต แต่ไม่มีใครนำอาหารบิณฑบาตมาถวาย เพราะมารเข้าสิงในสรีระของชาวบ้านเสีย) จึงไม่ได้ของอะไรเลยเล่า”
น: “ขอถวายพระพร การที่พระพุทธองค์ไม่ได้ของอะไรเลยคราวนั้น เป็นเพราะมารผู้มีบาปครอบงำจิตของชาวบ้านนั้นเสียหมด”
ม: “ถ้าอย่างนั้น บุญบารมีที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสมมาจะมีผลอะไร มารจะมิวิเศษกว่าพระพุทธเจ้าไปหรือ”
น: “อาตมภาพจะเปรียบถวาย เหมือนบุรุษนำน้ำผึ้งเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระเจ้าจักรพรรดิ แต่ถูกนายพระทวารห้ามกันเสียมิให้เข้า ขอถวายพระพร พระเจ้าจักรพรรดิจะได้ชื่อว่า เสื่อมจากลาภสักการะ เพราะขาดแคลนน้ำผึ้งนั้นได้หรือ”
ม: “หามิได้ ผู้รักษาพระทวารอันความริษยาครอบงำแล้ว จึงห้ามเครื่องบรรณาการนั้นเสีย แต่ว่าเครื่องบรรณาการย่อมเกิดมีแด่พระเจ้าจักรพรรดิ โดยมิใช่ของนายพระทวาร”
น: “ตัวอย่างนั้นแลฉันใด นี่ก็ฉันนั้นเหมือนกัน การที่มารผู้มีจิตคิดริษยา สิงชาวบ้านปัญจสารคามมิให้ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระพุทธเจ้านั้น ใช่ว่าพระองค์จะขาดแคลนจากอาหารบิณฑบาตก็หาไม่ พระองค์กลับร่ำรวย เพราะเหล่าเทวดาพอกันถือเอาของทิพย์เข้าไปถวายแด่พระพุทธเจ้า”
ม: “เธอฉลาดว่า”
จบภควโต ลาภันตรายปัญหา