ปัญหาที่ ๔ เหตุให้เกิดแผ่นดินไหวในทางพระพุทธศาสนา (ภูมิจลนปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน เหตุซึ่งทำให้แผ่นดินไหวมีเท่าไร”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “มี ๘ อย่าง คือ
๑. ลมกำเริบ
๒. ผู้มีฤทธิ์บันดาล
๓. พระโพธิสัตว์จุติ
๔. พระโพธิสัตว์อุบัติ
๕. ตรัสรู้
๖. ตรัสปฐมเทศนา
๗. ปลงพระชนมายุ
๘. นิพพาน
ขอถวายพระพร ตามที่ปรากฏในบาลีประเทศมี ๘ อย่างเท่านี้”
ม: “ถ้ามีแต่เพียง ๘ อย่างเท่าที่เธอว่า ก็ยังไม่ครบเพราะปรากฏว่า เมื่อคราวพระเวสสันดร ทรงบริจาคสัตตสดกมหาทาน (คือสิ่งละ ๗๐๐ มีระบุไว้ดังนี้ ช้าง ๗๐๐, ม้า ๗๐๐, รถเทียมม้า ๗๐๐, แม่โค ๗๐๐) แผ่นดินก็ไหวถึง ๗ ครั้ง นั่นมิใช่เหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๘ อย่างนั้นมิใช่หรือเธอ”
น: “ขอถวายพระพร ถูกแล้ว”
ม: “ถ้าเช่นนั้น ที่เธอว่าเพียง ๘ เท่านั้นจะมิผิดไปหรือ”
น: “ขอถวายพระพร ไม่ผิด เพราะการบำเพ็ญทานใหญ่ถึงปานนี้ จนแผ่นดินไหว ๗ ครั้ง มิได้เป็นอยู่ทุกยุคทุกสมัย ต่อหลายกัปป์ หลายกัลป์ จึงจะมีขึ้นสักครั้งสักคราวหนึ่ง ส่วนเหตุ ๘ ประการที่ท่านระบุไว้นั้น ย่อมมีอยู่เนืองๆ และทั้งเป็นเหตุการณ์สำคัญ ๆ เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่ามี ๘ ประการเท่านั้น”
ม: “เธอจะหาตัวอย่างมาเปรียบให้ฟัง”
น: “เหมือนอำมาตย์ของพระมหากษัตริย์ แม้จะมีอยู่มากมายแต่ก็เพียง ๖ คนเท่านั้น ซึ่งปรากฏชื่อว่าอำมาตย์ ก็คือ
๑. เสนาบดี
๒. ปุโรหิต
๓. ผู้พิพากษา
๔. ขุนคลัง
๕. ผู้เชิญพระกลด
๖. ผู้เชิญพระแสง
นี้ฉันใด เหตุแห่งแผ่นดินไหวก็ฉันนั้นเหมือนกัน ท่านระบุไว้แต่ที่สำคัญ ๆ และที่เกิดมีอยู่เนือง ๆ เท่านั้น ส่วนเหตุประการอื่นนอกจากนี้ท่านหาได้กล่าวไว้ด้วยไม่ เพราะมีชั่วครั้งหนึ่งคราวเดียวเท่านั้น ขอถวายพระพร ขอให้พระองค์ทรงนึกดูว่า เคยได้ยินใครกล่าวบ้างว่าผู้นั้นผู้นี้ให้ทานแล้วแผ่นดินไหวถึง ๗ ครั้ง ซึ่งนอกจากพระเวสสันดร”
ม: “ไม่เคยได้ยินใครพูดเลยเธอ”
น: “แม้อาตมภาพก็ไม่เคยได้ยินใครพูดเช่นเดียวกับพระองค์เหมือนกัน การที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าพระเวสสันดรทรงบริจาคทานโดยมีพระหฤทัยผ่องใสมุ่งธรรมเป็นใหญ่ มิได้ทรงบริจาคโดยหวังลาภยศสรรเสริญ หรือจะกันเขานินทาก็หามิได้”
ม: “เธอว่าเช่นนี้ชอบแล้ว”
จบภูมิจลนปัญหา
ปัญหาที่ ๕ พระเจ้าสิวิราชทรงควักพระเนตร แล้วได้ตาทิพย์ (สีวิรัญโญจักขุทานปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน คำที่ว่าคนตาบอดมีจักษุประสาทพิการแล้ว ย่อมไม่มีโอกาสที่จะกลับเห็นได้อย่างเดิมอีกนั้น มีกล่าวไว้ในพระสูตรบ้างหรือไม่”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร มี”
ม: “ถ้าเช่นนั้น เรื่องสีวิราชชาดกที่ว่า พระเจ้าสีวิราชทรงควักพระเนตรทั้ง ๒ ให้เป็นทาน มีพระจักษุประสาทพิการแล้ว แต่ต่อมาทรงได้พระจักษุประสาทคืนดี ทอดพระเนตร เห็นได้เหมือนอย่างเดิมนั้น จะมิไม่จริงหรือ”
น: “ขอถวายพระพร จริง”
ม: “ถ้าจริงจะให้ข้าพเจ้าลงความเชื่อคำไหนได้เล่า”
น: “ขอถวายพระพร คำต้นนั้นท่านกล่าวตามปรกติวิสัยของนัยน์ตา ซึ่งเมื่อพิการแล้วย่อมคืนดีอย่างเดิมไม่ได้
ส่วนที่ท่านกล่าวไว้ในชาดกซึ่งผิดจากคำเบื้องตนไปนั้นก็เพราะท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งอานุภาพของสัตยาธิษฐาน (อ่านว่า สัด-ตะ-ยา-ทิด-ถาน: A vow) คือความตั้งใจไว้มั่นในความจริงอย่างใดอย่างหนึ่ง
ขอถวายพระพร พระองค์เคยทอดพระเนตรเห็น หรือเคยได้ทรงสดับบ้าง หรือไม่ว่าผู้ที่กระทำสัตยาธิษฐานแล้วอาจทำให้ฝนตกหรือไฟดับ หรือกำจัดกำลังแห่งยาพิษเสียก็ได้”
รูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
“พระบาทสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า จึงตรัสประกาศแก่เทพยดาทั้งปวง ให้บังเกิดในประยูรมหาเศวตฉัตร จะให้บำรุงพระบวรพุทธศาสนา ไฉนจึงมิช่วยให้สว่างแลเห็นข้าศึกเล่า พอตกพระโอษฐ์ลง พระพายก็พัดควันอันเป็นหมอกมืดนั้นสว่างไป ทอดพระเนตรเห็นข้างเศวตฉัตร 16 ข้าง มีข้างดั้งข้างกันยืนอยู่เป็นอันมาก...”
ม: “ก็เคยได้เห็นได้ยินอยู่บ้าง”
น: “นั่นพระองค์ทรงเข้าพระหฤทัยว่าเป็นได้ด้วยอะไร”
ม: “เข้าใจว่า เป็นด้วยอานุภาพแห่งสัตยาธิษฐาน”
น: “นั่นแลฉันใด นี่ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักษุประสาทของพระเจ้าสีวิราชย่อมกลับคืนดีได้อย่างเดิม ก็ด้วยอานุภาพแห่งสัตยาธิษฐาน คือการที่ทรงตั้งพระหฤทัยมั่นอยู่ในความจริงอย่างใดอย่างหนึ่งนั่นเอง
ขอถวายพระพร อาตมภาพจะเล่าเรื่องของพระเจ้าอโศกถวาย คือครั้งหนึ่งพระเจ้าอโศกเสด็จไป ประพาสริมแม่น้ำคงคา ครั้นแล้วมีพระราชดำรัสถามเหล่าอำมาตย์ว่า ‘ผู้ที่สามารถทำให้น้ำในแม่น้ำคงคานี้ไหลกลับทวนกระแสไปได้ เห็นจะไม่มี’
ก็ขณะนั้นมีหญิงแพศยาคนหนึ่ง ชื่อนางพินทุมดีอยู่ ณ ริมฝั่งน้ำนั้น เมื่อได้ยินพระราชดำรัสดังนั้น จึงกระทำสัตยาธิษฐาน ขอให้น้ำไหลกลับทวนกระแส เพื่อถวายทอดพระเนตรน้ำในแม่น้ำคงคาก็ไหลกลับทวนกระแสตามความประสงค์ พระเจ้าอโศกทรงพิศวงในพระราชหฤทัย จึงตรัสถามว่า ‘เหตุอะไรจึงเป็นเช่นนี้’ อำมาตย์จึงกราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่านางพินทุมดีกระทำสัจจกิริยาขอให้น้ำไหลกลับ’
จึงเสด็จพระราชดำเนินไปตรัสถามนางพินทุมดีว่า ‘อะไรเป็นกำลังในสัจจกิริยาของเจ้า’ ‘ขอเดชะ กระหม่อมฉันมีความจริงใจอยู่อย่างหนึ่ง คือการบำเรอบุรุษ กระหม่อมฉันกระทำเสมอหน้ากันหมด จะเป็นใคร มีฐานะอย่างไรก็ตาม เมื่อให้ทรัพย์แก่กระหม่อมฉันแล้ว ย่อมได้รับการบำเรอเป็นอย่างเดียวกันสิ้น กระหม่อมฉันอ้างความจริงใจนี้กระทำสัตยาธิษฐาน’
ขอถวายพระพร เรื่องนี้พระองค์ทรงเชื่อหรือไม่”
ม: “เชื่อสิเธอ เพราะมีเหตุผลพอที่จะคิดเห็นได้”
น: “ขอถวายพระพร นี่ชี้ให้เห็นว่า การกระทำสัตยาธิษฐาน คือกิริยาที่กล่าวอ้างถึงความจริงอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้เป็นความจริงในสิ่งลามกก็ให้เกิดผลได้สมประสงค์ ก็เมื่อความจริงมีอยู่เช่นนี้
ไฉนพระเจ้าสีวิราชผู้มีพระราชหฤทัยมั่นในการทรงบำเพ็ญทาน จึงจะไม่ได้พระเนตรกลับดีอย่างเดิมในเมื่อทรงกระทำสัตยาธิษฐานอ้างถึงความจริงนั้นๆ ได้เล่า”
ม: “เธอว่านี้ชอบแล้ว”
จบสีวิรัญโญจักขุทานปัญหา