ปัญหาเสริม พระนางปชาบดีโคตรมี ทรงถวายผ้าแด่พระพุทธเจ้า (โคตรมีวัตถุนิทานปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน ปรากฏว่าเมื่อพระนางปชาบดีโคตมี นำคู่ผ้าซึ่งพระนางพยายามทำอย่างประณีตทุกอย่าง ไปถวายพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า เป็นของมีค่า ถ้าให้ทรงถวายแด่พระสงฆ์ ก็จะเกิดผลอันไพศาล จึงตรัสแนะนำให้พระนางทรงนำผ้าคู่นั้นไปถวายแด่พระสงฆ์เรื่องนี้จริงหรือเธอ”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร จริง”
ม: “ถ้าเป็นเช่นนั้น พระสงฆ์จะมิประเสริฐกว่าพระพุทธเจ้าหรือ จึงสมควรแด่ผ้าผืนนั้น”
น: “ขอถวายพระพร การที่พระพุทธเจ้ามีพระพุทธดำรัสแนะนำให้ทรงกระทำเช่นนั้นก็ด้วยมีพระพุทธประสงค์จะเชิดชูพระสงฆ์ เพียงเท่านี้ไม่เป็นเหตุที่จะจัดว่า พระสงฆ์ประเสริฐกว่าพระพุทธเจ้า
อาตมภาพจะเปรียบถวาย เหมือนชายชราผู้หนึ่งเห็นว่าบุตรของตนเป็นคนดี จึงกล่าวยกย่องขึ้นในที่ประชุม เมื่อเป็นเช่นนั้นจะจัดว่า บุตรดีกว่าชายชราผู้บิดาโดยเหตุที่ได้รับยกย่องกระนั้นหรือ”
ม: “ด้วยเหตุเท่านั้น บุตรจะดีกว่าบิดาไปได้อย่างไรเล่าเธอ ข้าพเจ้าเห็นว่า บิดาเป็นคนดีและฉลาดในการปกครองด้วย เพราะเมื่อบุตรเห็นบิดาแสดงเมตตาจิตเช่นนั้น ก็ย่อมจะพยายามทำความดี เพื่อดำรงวงศ์สกุลให้ยิ่ง ๆ ขึ้น นอกจากนี้ ญาติมิตรทั้งหลายก็จะพากันนิยมนับถือบุตรชายผู้นั้นขึ้นอีกด้วย”
น: “ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าก็ดียิ่งเช่นนั้นเหมือนกัน ข้อที่จะพึงพิสูจน์พระคุณสมบัติ ย่อมได้จากเรื่องนี้แล คือการที่พระพุทธองค์ไม่ทรงรับผ้าไว้ใช้สอยเป็นส่วนพระองค์นั้นส่อให้เห็นว่า พระองค์มิได้เห็นแต่ประโยชน์สุขของพระองค์ส่วนเดียว มีพระหฤทัยมุ่งแต่จะให้เกิดประโยชน์สุขแก่คนจำนวนมากต่อไปเท่านั้น เพราะทรงเห็นว่า เมื่อพระองค์นิพพานไปแล้ว พระสงฆ์แหละจะเป็นผู้ดำรงศาสนาวงศ์คำสั่งสอนของพระองค์ได้ยืดยาวไปถึงคนภายหลังได้
อนึ่งทรงเห็นว่า พระสงฆ์ก็เป็นทักขิเณยยบุคคล (บุคคลผู้ควรทำบุญ) สมควรแก่เครื่องสักการบูชาเช่นนั้นเหมือนกัน ทั้งจะเป็นตัวอย่างชวนให้ผู้บริจาคทานในภายหลังเห็นคุณสมบัติของพระสงฆ์ ในเมื่อมาคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย
ขอถวายพระพร เพราะมีพระพุทธประสงค์อยู่เท่านี้แล จึงตรัสแนะนำให้พระนางทรงนำผ้าคู่นั้นไปถวายแด่พระสงฆ์ ซึ่งจัดเป็นองค์สมบัติประการหนึ่ง ที่เชิดชูให้พระองค์เป็นผู้ประเสริฐที่สุด”
ม: “เธอนี่สามารถจริง”
จบโคตรมีวัตถุนิทานปัญหา
ปรารภเมณฑกปัญหา
วรรคที่ ๑
อยู่มาคืนวันหนึ่ง พระเจ้ามิลินท์เสด็จประทับอยู่ในที่เงียบสงัด ทรงใคร่ครวญถึงข้อธรรมบางประการ ซึ่งมีข้อขอดเป็นสองแง่สองทาง เกิดปัญหาขึ้นในพระราชหฤทัย ทรงวินิจฉัยให้เด็ดขาดไม่ได้ จึงทรงพระปรารภว่า จะต้องพักราชการสัก ๗ วัน สมาทานศีล และระวังจิตมิให้ตกไปในอำนาจแห่งความรัก ความโกรธ ความหลง สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้ให้อยู่ในความควบคุม แห่งสติสัมปชัญญะอยู่ทุกขณะ ถ้วน ๗ วันแล้วจักไปหาพระนาคเสน นิมนต์ให้ท่านแถลงข้อขอดแห่งปัญหาธรรมซึ่งเป็นสองแง่สองทางนั้น ๆ ให้ฟัง
มีพระราชดำริอยู่ฉะนี้ รุ่งขึ้นพระองค์ทรงชำระสระพระเกศา ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ถือเพศเป็นมุนี ทรงสำรวมกายวาจาใจอยู่สิ้น ๗ วัน ครั้นถึงวันที่ ๘ ก็เสด็จไปหาพระนาคเสน ตรัสเล่าพระราชปรารภและพระราชประสงค์ให้ฟังจนตลอด แล้วทรงเริ่มดำรัสถามปัญหาต่อไป
เมณฑกปัญหา ปัญหาที่ ๑ เดียรถีย์ท้วงการบูชาพระพุทธเจ้า (วัชฌาวัชฌปีญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน พวกเดียรถีย์ (นักบวชนอกพระพุทธศาสนาในอินเดียสมัยพุทธกาล มีมาก่อนพระพุทธศาสนา และเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง) พูดกันว่า เครื่องสักการะที่เราบูชาพระพุทธเจ้าทุกวันนี้ ถ้าเราเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าทรงยินดีรับ ก็เป็นอันว่าพระองค์ไม่ใช่พระอรหันต์ผู้วิเศษอะไรเพราะเห็นแก่เครื่องบูชา เมื่อเป็นเช่นนี้ การบูชานั้นจะมีคุณได้อย่างไร
แต่ถ้าเราบูชาโดยเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ได้มรรคผลนิพพานจริงพระองค์สิดับสูญไปแล้ว การบูชาพระพุทธองค์ที่เรากระทำกันอยู่ในบัดนี้ จะไปได้รับความยินดีหรือได้รับอนุโมทนาจากใคร เขาว่าการบูชาของเราไร้ผลทั้ง ๒ ประการเช่นนี้ เธอจะแก้เขาว่ากระไร”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร อย่าว่าแต่พระพุทธองค์นิพพานไปแล้วเลย แม้แต่เมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ก็ไม่มีความยินดีเพราะความยินดียินร้าย พระองค์ได้ตัดได้เด็ดขาดแล้ว ความข้อนี้พระสารีบุตรท่านก็ได้กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้า ไม่ทรงยินดีในเครื่องสักการะที่ชนทุกชั้นบูชาที่สุด ไปจนถึงเครื่องราชสักการะ”
ม: “เท่าที่เธอว่านี้ยังฟังไม่ได้ เพราะวิสัยบุตรก็ยกย่องคุณบิดามารดาเป็นธรรมดา”
น: “ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกตัวอย่างมาเปรียบถวายเหมือนไฟกองใหญ่ลุกโพลง อยู่ขณะหนึ่งแล้วมอดไป ขอถวายพระพร ไฟที่มอดแล้วนั้นยินดีต่อหญ้าและไม้ซึ่งเป็นเชื้อหรือไม่ (กองไฟที่ดับไปแล้ว ได้เอาไม้ และหญ้ามาสุมกองไฟใหม่)”
ม: “จะกล่าวไปไยถึงไฟที่มอดแล้ว แม้ไฟเมื่อขณะลุกอยู่ ก็ไม่ยินดี เพราะไม่มีเจตนา”
น: “ก็เมื่อไฟกองนั้นมอดไปแล้ว ต่อมาจะต้องการไฟทำอะไรอีก มิไม่สำเร็จประโยชน์หรือ”
ม: “ต้องการเมื่อไร ก่อใหม่ไฟก็ลุกขึ้นอีก”
น: “พระพุทธเจ้าก็เป็นเช่นเดียวกับไฟนั้นเหมือนกัน คือนับแต่ขณะเมื่อได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณนั้นมา พระองค์หามีเจตนารู้สึกทรงยินดีต่อสิ่งที่น่าปรารถนา หรือยินร้ายต่อสิ่งที่เป็นข้าศึกไม่ เพราะพระองค์ทรงรู้เท่าทันคติของความยินดียินร้าย
ขอถวายพระพร เนื่องด้วยพระองค์ไม่มีพระหฤทัยทรงยินดียินร้ายนี้แลเป็นเหตุ การบูชาของเราจึงเกิดผลเหมือนไฟโพลงยิ่งขึ้น เพราะอะไร เพราะถ้าพระองค์ทรงยินดีอยู่ เราก็จะตั้งใจคอยรับแต่อนุโมทนาหวังดีจากพระองค์โดยตรงเท่านั้นซึ่งเป็นเหตุให้เรา
คลายต่อกิจการที่ชอบอื่น ๆ และเมื่อพระองค์ทรงยินดีในการที่เราบูชา ก็ต้องทรงยินร้ายในเมื่อเราไม่บูชาหรือบูชาไม่ถูกพระหฤทัย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็จะต้องจำใจทำ และต้องทำให้ถูกพระหฤทัยด้วย ถ้ามิฉะนั้นพระองค์ก็จะใส่ร้ายให้
ขอถวายพระพร แต่นี้เพราะพระอัธยาศัยมิได้เป็นเหตุให้เราหวังดีหรือเกรงกลัวอย่างนั้น การบูชาของเราจึงทำได้ถูกทาง แม้พระองค์จะดับสูญไปแล้ว เราก็อาจก่อการบูชาของเราให้โพลงขึ้นได้ เหตุว่าการบูชาของเรามีประสงค์แต่จะโยงกายวาจาใจให้น้อมนึกถึงพระองค์ และพระคุณสมบัติทั้งหลาย มาปลุกใจให้เราพยายามทำประโยชน์สุขให้แก่ตัวและผู้อื่นยิ่งๆ ขึ้น
ขอถวายพระพร ก็เมื่อการบูชาของเราทำโดยมีเหตุ มีผลเช่นนี้แล้วจะจัดว่าไร้ผลได้อย่างไร”
ม: “เธออุปมานี้ดีนัก”
จบวัชฌาวัชฌปีญหา