ปัญหาที่ ๙ บาป และบุญอย่างไหนดูดดื่มกว่ากัน (บาปปุญญพหุการปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน บุญกับบาปไหนจะดูดดื่มกว่ากัน”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร บุญดูดดื่มมากกว่า”
ม: “ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นเล่าเธอ”
น: “ขอถวายพระพร บาปย่อมมีผลเป็นทุกข์ ก็เมื่อผู้กระทำบาป ถูกความทุกข์เผาผลาญให้ได้รับความเดือดร้อนอยู่ ใจย่อมระอา คร้านต่อการกระทำบาปนั้นต่อไป
ส่วนบุญย่อมตามอำนวยความสุขกาย ความเย็นใจ ให้แก่ผู้กระทำ ซึ่งเป็นเหตุชวนให้ผู้ที่ได้รับผลเช่นนั้น พยายามสั่งสมต่อไปอีก เพราะบุญมีผลเป็นที่จับใจของผู้กระทำเช่นนี้ จึงดูดดื่มกว่า”
ม: “ชอบละ”
จบบาปปุญญพหุการปัญหา
ปัญหาที่ ๑๐ คนหนึ่งรู้จักบาป อีกคนไม่รู้จัก เมื่อทำบาปใครจะบาปกว่ากัน (ชานอชานปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน คนหนึ่งรู้ว่าทำอย่างไรเป็นบาป และบาปนั้นมีโทษอย่างไร อีกคนหนึ่งไม่รู้เสียเลย คน ๒ คนนี้ทำบาปด้วยกัน ใครจะบาปมากกว่ากัน”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร คนไม่รู้บาปมากกว่า”
ม: “ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นเล่าเธอ ก็ทางบ้านเมือง ผู้ที่ไม่รู้กฎหมายกระทำผิดบางอย่าง ย่อมได้รับความลดหย่อนผ่อนโทษเบากว่าผู้รู้กฎหมาย”
น: “ขอถวายพระพร ก้อนเหล็กซึ่งเขาเผาไฟจนแดงโชน คนหนึ่งรู้ว่าเป็นเหล็กแดง อีกคนหนึ่งไม่รู้ ก็ถ้าจะให้คน ๒ คนนี้หยิบก้อนเหล็กแดงนั้น คนไหนจะหยิบได้เต็มมือ และถูกความร้อนเผามากกว่ากัน”
รูปเปรียบกับก้อนเหล็กที่ร้อนแดง
ม: “คนรู้จะหยิบได้สนิทหรือเธอ ต่อคนไม่รู้จึงหยิบได้เต็มมือ เมื่อเช่นนั้นก็ต้องถูกความร้อนเผามากกว่าคนรู้”
น: “นั่นแลฉันใด นี่ก็ฉันนั้น คือผู้ที่รู้เหตุรู้ผลแห่งบาปกรรมโดยจริงใจมีอยู่อย่างไร ขณะเมื่อตนกระทำบาปอยู่ย่อมเกิดความละอายใจ และความหวาดกลัวว่า ตนมิสมควรจะกระทำเช่นนั้น ด้วยเกรงว่าภายหลังจะได้รับความเดือดร้อนเพราะบาปกรรมนั้นตามให้ผล เป็นอันว่า มิกล้าที่จะกระทำบาปต่อไปอีก
ส่วนผู้ที่ไม่รู้ว่าทำอย่างไรเป็นบาป และการกระทำนั้นมีโทษ
เพียงไร ย่อมไม่มีความตะขิดตะขวงใจ อาจทำได้ตามอำเภอใจ แม้บาปหนัก ๆ ก็ทำได้ โดยที่ตนไม่รู้ว่าการกระทำนั้นๆ ตนจะต้องเป็นผู้รับผลอย่างสาหัส ขอถวายพระพร ด้วยเหตุนี้แลจึงว่าคนไม่รู้บาปมากกว่า”
ม: “เธอว่านี้ชอบแล้ว”
จบชานอชานปัญหา
|