ปัญหาที่ ๘ ปัญญามีที่อยู่ หรือไม่ (ปัญญาปฏิฏฐานปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน ปัญญาอยู่ที่ตรงไหน”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร ที่อยู่ของปัญญาไม่ปรากฏ”
ม: “ถ้าเช่นนั้นปัญญามิไม่มีหรือ”
น: “ลมมีหรือไม่มี และถ้ามี ที่อยู่ ๆ ที่ตรงไหน”
รูปเทียบปัญญาเปรียบกับลม
ม: “ลมมีสิเธอ แต่ว่าที่อยู่ของลมไม่มีใครรู้”
น: “ขอถวายพระพร ปัญญาก็เช่นนั้นเหมือนกัน คือ แม้ปัญญามีอยู่แต่ก็ไม่ปรากฏว่า ที่อยู่ๆ ที่ตรงไหน”
จบปัญญาปฏิฏฐานปัญหา
ปัญหาที่ ๙ การเวียนว่ายตายเกิดมีอาการเช่นไร (สังสารวัฏปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน สังสารวัฏได้แก่อะไร”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร ได้แก่การเวียนเกิดเวียนตาย”
ม: “เธอจงหาตัวอย่างมาเปรียบให้ฟัง”
น: “เหมือนชาวสวนผู้หนึ่งปลูกมะม่วงไว้ ครั้นเกิดผลก็เก็บมารับประทาน เสร็จแล้วเอาเมล็ดมะม่วงนั้นเพาะปลูกต่อไป ถึงคราวเกิดผลอีกก็เก็บมารับประทานแล้วปลูกใหม่ต่อ ๆ ไปอีก ขอถวายพระพร ธรรมดาของชาวสวนย่อมเป็นอยู่เช่นนี้มิใช่หรือ”
ม: “ใช่สิเธอ ด้วยว่าปรกติของชาวสวนย่อมหมั่นเพาะ หมั่นปลูกพืชพันธุ์ หมุนเวียนอยู่เช่นนี้แล”
น: “ขอถวายพระพร สังสารวัฏก็มีอาการหมุนเวียนเช่นนั้นเหมือนกัน คือ นับแต่เราเกิดมา เราก็ตั้งต้นเพาะความดีความชั่วเป็นตัวบุญบาปขึ้นเมื่อเราเพาะความดีความชั่วอันเป็นเหตุขึ้นแล้ว เราก็ต้องรับผลของความดีความชั่วนั้น แต่จะช้าหรือเร็วสุดแต่อำนาจบุญบาป ผลนั้นแลจูงใจให้เราเพาะเหตุต่อไปอีก
เหมือนผู้ที่ได้รับประทานผลมะม่วงแล้ว เพาะเมล็ดมะม่วงนั้นขึ้นใหม่ต่อไป ฉะนั้น ก็ขณะเมื่อเราเพาะเหตุและรับผลอยู่นี้ เราย่อมถูกความแก่ชราพยาธิพัดผันให้ใกล้ความตายเข้าไปอยู่ทุก ๆ ขณะครั้นเราถึงวาระแห่งความตาย ความดี ความชั่ว คือบุญบาปที่เราได้เพาะได้ทำไว้ในชาตินี้นั้น ก็เริ่มปั่นให้เราหมุนไปเกิดแก่เจ็บตายต่อ ๆ ไปอีก วนเวียนกันอยู่โดยทำนองนี้เรื่อยไปจนกว่าเราจะได้หยุดเพราะเหตุทั้ง ๒ ประการนั้นเสีย
ขอถวายพระพร ก็เขตที่จะให้เราหยุดเพาะเหตุได้นั้นต้องต่อเมื่อเราได้พยายามทำความดีล้างความชั่วซึ่งเป็นสิ่งโสโครก จนไม่มีแปดเปื้อนหยุดกระทำการชำระล้างได้แล้วเมื่อนั้นเป็นอันว่า เราได้เขตหยุดเพาะเหตุคือความดีความชั่ว ไม่ต้องเวียนเกิดเวียนตายต่อไปอีก ขอถวายพระพร
แต่ถ้าเรายังเพาะเหตุ คือยังต้องทำความดีล้างความชั่วอยู่ตราบใด เราก็ยังจะต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่ตราบนั้น
ขอถวายพระพร สังสารวัฏได้แก่อาการหมุนเวียนดังทูลมาฉะนี้แล”
ม: “เธอว่านี้ชอบแล้ว”
จบสังสารวัฏปัญหา
|