ปัญหาที่ ๖ เหตุใดจึงทนต่อความร้อนแห่งไฟนรก (นิรยอุณหาการปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน ก็คำที่เธอว่าไฟในนรกร้อนแรงกว่าไฟธรรมดาในมนุษย์ เพราะไฟในมนุษย์นี้ถึงจะทิ้งก้อนหินย่อม ๆ ลงไป แม้เผาอยู่วันยังค่ำก็ไม่ละลาย
แต่ถ้าทิ้งหินก้อนโตๆ ลงไปในไฟนรก ครู่เดียวเท่านั้นก็แหลกย่อยไปหมด ถ้าจริงอย่างเธอว่านั้น เหตุไฉนสัตว์นรกบางพวกซึ่งไหม้อยู่ตั้งหลายพันปี จึงไม่แหลกไม่ย่อยไปเสียสิ้นเล่า”
รูปไฟนรก
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร สัตว์จำพวกจระเข้ย่อมกลืนกินก้อนหินก้อนกรวดเป็นอาหารมิใช่หรือ”
ม: “ใช่สิเธอ”
น: “ก็หินและกรวดในท้องสัตว์เหล่านั้น ไฟธาตุย่อยละเอียดหรือไม่”
ม: “ย่อยละเอียดหมด”
น: “ก็ถ้าเป็นเช่นนั้น ลูกที่ยังอยู่ในท้องสัตว์จำพวกนั้นถูกไฟธาตุย่อยละเอียดไปด้วยหรือไม่”
ม: “หามิได้”
น: “ขอถวายพระพร นั่นเป็นเพราะเหตุไร”
ม: “เข้าใจว่าเป็นเพราะกรรมชุบเลี้ยงไว้”
น: “สัตว์นรกก็เป็นเช่นเดียวกับลูกสัตว์จำพวกนั้นเหมือนกัน คือหาได้ถูกไฟนรกซึ่งร้อนแรงถึงปานนั้นเผาให้ละลายหายสูญไปไม่ ทั้งนี้ก็เพราะบาปกรรมที่ตนได้กระทำมาตามชะลอเลี้ยงไว้
พระพุทธภาษิตว่า บาปกรรมยังไม่สิ้นเพียงใด สัตว์นรกก็ยังไม่หมดอายุเพียงนั้น”
ม: “เธอฉลาดเปรียบ”
จบนิรยอุณหาการปัญหา
ปัญหาที่ ๗ จริงหรือแผ่นดินตั้งอยู่บนของเหลว (ปฐวีสัณฐารกปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน ก็คำที่เธอว่าแผ่นดินนี้ตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม ลมอยู่ในอากาศที่ว่าง นั้นจะจริงหรือ”
รูปธมกรก
พระนาคเสนจึงจับธมกรก (ทะ-มะ-กะ-หรก กระบอกรองน้ำ) จุ่มน้ำแล้วปิดปลายด้านบน เพื่อไม่ให้น้ำไหลลงไปได้ จากนั้นยกขึ้น น้ำก็ไม่ไหลออก แล้วทูลเปรียบถวายว่า “น้ำนี้ลมอุ้มไว้ได้ฉันใด แม่น้ำซึ่งรองแผ่นดินก็เป็นฉันนั้นเหมือนกัน ได้อาศัยลมซึ่งอยู่ในอากาศประคองไว้ จึงได้ทรงตัวอยู่ได้”
ม: ชอบกล
จบปฐวีสัณฐารกปัญหา
|