ปัญหาที่ ๕ ความสุขกายสุขใจ (สุขเวทนาปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน สุขเวทนา (ความสุขกายสุขใจ) เป็นกุศลหรืออกุศล หรือเป็นอพยากฤต (เป็นกลางๆ ไม่ใช่ ๒ อย่างนั้น)”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร เป็นได้ทั้ง ๓ อย่าง”
ม: “ตามธรรมดากุศลก็เป็นสุข อกุศลก็เป็นทุกข์ แต่นี่ไฉนเธอจึงว่าเป็นได้ ทั้ง ๓ อย่างเล่า”
น: “อาตมภาพจะเปรียบถวาย เหมือนคนเอาก้อนเหล็กแดงโชนวางลงในมือข้างหนึ่ง เอาก้อนลูกเห็บวางลงในมือข้างหนึ่ง ขอถวายพระพรนั่นเขาจะรู้สึกร้อนหรืออย่างไร”
ม: “ร้อนสิเธอ”
น: “ร้อนทั้ง ๒ มือหรือ”
ม: “หามิได้”
น: “หรือเย็นทั้ง ๒ มือ”
ม: “จะว่าเย็นทั้ง ๒ ก็ไม่ถูก”
น: “นี่แลขอพระองค์จงทราบว่า สุขเวทนาก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน คือ เป็นได้ทั้งกุศล อกุศล ทั้งอพยากฤต จะว่าเป็นแต่อย่างหนึ่งอย่างใดก็ไม่ถูก เพราะสุขล้วนก็มี สุขเจือทุกข์ก็มี สุขสถานกลางก็มี”
ม: “เธอจงแจงให้ฟัง”
น: “โสมนัสอาศัยความกำหนัด (สุขอิงโลก) มี ๖,
อาศัยเนกขัมมะ (สุขห่างจากโลก) มี ๖, โทมนัสอาศัยความกำหนัด (ทุกข์เพราะระคนด้วยโลก) มี ๖, อาศัยเนกขัมมะ (ทุกข์เพราะพยายามจะห่างโลก) มี ๖, อุเบกขา อาศัยความกำหนัด (ความวางเฉยเกี่ยวทางโลก) มี ๖, อาศัยเนกขัมมะ (ความวางเฉยเพราะห่างจากโลก) มี ๖, รวมเป็น ๓๖ แล้วจำแนกออกตามกาลทั้ง ๓ คืออดีต อนาคต และปัจจุบัน จึงบวกเข้าเป็น จำนวน ๑๐๘”
ม: “พิสดารจริง”
จบสุขเวทนาปัญหา
ปัญหาที่ ๖ ตายไปแล้ว อะไรจะกลับมาเกิดอีกต่อไป (นามรูปปฏิสนธิคหณปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน ก็คำที่เธอว่า ผู้ที่จักกลับมาเกิดอีกก็มีนั้น อะไรจักกลับมาเกิด”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร นามและรูปจักกลับมาเกิด”
ม: “นามรูปอันนี้แลหรือจักกลับมาเกิด”
น: “มิใช่นามรูปนี้, ขอถวายพระพร เป็นนามรูปอีกอันหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะบุญบาปอันนามรูปนี้ได้กระทำไว้”
ม: “ก็ถ้ามิใช่นามรูปนี้ไปเกิดแล้ว ก็เป็นอันว่าหนีบาปกรรมที่ทำไว้ในชาตินี้พ้นละสิเธอ”
น: “ขอถวายพระพร ถ้าไม่บังเกิดต่อไปอีกก็เป็นอันหนีพ้น แต่ถ้ายังต้องมาเกิดอีก ก็หนีไม่พ้น”
ม: “เธอจงเปรียบให้ฟัง”
น: “เหมือนคนลักมะม่วงเจ้าของจับได้ เมื่อคดีถึงศาลจำเลยแก้ตัวว่า มะม่วงต้นนั้น โจทก์มิได้ปลูกไว้ ต้นมะม่วงที่เขาลักผลเป็นของคนอื่นปลูกมาก่อน ขอถวายพระพร เมื่อจำเลยแก้ตัวเช่นนี้ จะพ้นโทษหรือไม่”
ม: “ไม่พ้นสิเธอ”
น: “ขอถวายพระพร เพราะเหตุไร”
ม: “เพราะว่าจำเลยยังมีความผิดฐานลักขโมยอยู่ แม้ตัวจะปฏิเสธข้อหาของโจทก์ในคดีนั้นแล้วก็จริง แต่ก็ยังชื่อว่ารับสารภาพความผิดในคดี ๑ จึงเป็นอันว่าลงโทษจำเลยได้”
น: “นั่นแลฉันใด การที่จะเอานามรูปอื่นข้างหน้า มาเป็นเหตุหนีบาปกรรมที่ทำไว้ในชาตินี้ให้พ้น ก็ไม่ได้ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะว่านามรูปอื่นนั้นเกิดขึ้นเพราะบุญบาปที่นามรูปนี้เป็นผู้ก่อไว้”
ม: “ของเธอจงเปรียบให้ฟังอีก”
น: “เหมือนคนก่อไฟผิงในฤดูหนาว ครั้นแล้วเกิดไฟไหม้ ไฟนั้นก็ลุกลามไปไหม้ไร่นาของผู้อื่น เมื่อคดีถึงโรงศาล จำเลยแก้ตัวว่า ไฟที่เขาก่อขึ้นนั้นเป็นไฟอีกกองหนึ่งมิใช่ไฟที่ไหม้ไร่นาของโจทก์ ขอถวายพระพร เมื่อจำเลยแก้ตัวต่อศาลเช่นนี้ ศาลจะงดโทษให้หรือไม่”
ม: “จะงดให้อย่างไรได้เธอ”
น: “เพราะเหตุไร”
ม: “เพราะไฟที่จำเลยก่อขึ้นนั้นเป็นต้นไฟ ตัวเลินเล่อปล่อยไว้ จึงลุกลามต่อไป เพราะฉะนั้นศาลจึงตัดสินลงโทษจำเลยได้”
น: “นั่นแลฉันใด บาปกรรมก็ตามลงโทษฉันนั้นเหมือนกัน เพราะแม้นามรูปนี้จะแปรไปเป็นนามรูปหน้าก็จริง แต่เหตุที่เป็นผู้ก่อบุญบาปไว้จึงเกิดมีนามรูปอื่นขึ้นแทน ฉะนั้นนามรูปอื่นนั้นจึงหนีบาปกรรมไม่พ้น”
ม: “เธอว่านี้ชอบแล้ว”
จบนามรูปปฏิสนธิคหณปัญหา