ปัญหาที่ ๑๐ ลักษณะความเชื่อ (ศรัทธาลักขณปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน ก็ศรัทธามีลักษณะอย่างไร”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร มีลักษณะทำจิตให้ผ่องใส และมีลักษณะจูงใจ”
ม: “ศรัทธาทำจิตให้ผ่องใสได้อย่างไร”
น: “ศรัทธาเมื่อเกิดขึ้น ย่อมขับไล่นิวรณ์ (สิ่งที่ทำให้จิตขุ่นข้องหมองใจ ป้องกันไม่ให้บรรลุความดี มี ๕ อย่าง คือ ๑. ความกำหนัดรักใคร่ ๒. ปองร้ายผู้อื่น ๓. จิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม ๔. ฟุ้งซ่านและรำคาญ ๕.ใจลังเล) ไปจากจิต จิตเมื่อปราศจากนิวรณ์ก็ย่อมผ่องใส”
ม: “เธอจงเปรียบให้ฟัง”
น: “เหมือนพระมหากษัตริย์ พร้อมด้วยจตุรงคเสนาเสด็จกรีธาทัพยกข้ามแม่น้ำน้อยแห่งหนึ่งไป ครั้นแล้วทรงกระหายน้ำ จึงสั่งตรัสให้ราชบุรุษไปตักน้ำมาถวาย พระมหากษัตริย์ทรงมีแก้วมณี ที่เป็นของวิเศษ สามารถทำให้น้ำขุ่น ใสขึ้นได้เอง
เมื่อราชบุรุษนั้นรับพระราชโองการแล้ว ก็นำเอาแก้วมณีดวงนั้นไปแช่ในแม่น้ำอันน้อยนั้น พอแช่สาหร่าย จอก แหนก็หลีกออกไป ตมก็จมลง น้ำก็ใสขึ้น ราชบุรุษจึงตักน้ำนั้นมาถวายพระมหากษัตริย์ตามพระราชประสงค์
ขอถวายพระพร เปรียบจิตเหมือนน้ำ ผู้ทำศรัทธาให้เกิด ก็เหมือนราชบุรุษ นิวรณ์ก็เหมือนสาหร่ายและตม ศรัทธาก็เหมือนแก้วมณี
อันจิตใจของคนเรา ย่อมถูกนิวรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้ง ๕ อย่างนั้นกระทำให้เศร้าหมอง พึงเห็นคนที่มีพยาบาทคิดปองร้ายเขา ใจย่อมขุ่นอยู่เสมอ
ก็ถ้าในขณะนั้นเขาผ่อนใจให้ความคำนึงถึงเหตุผลจนเห็นโทษแห่งพยาบาทได้ก็ย่อมจะขจัดความพยาบาทเสียได้ทันที
เพราะเกิดศรัทธาความเชื่อขึ้นว่า ทำชั่วก็ได้รับผลชั่ว ตนก่อความพยาบาท ตนก็ต้องรับผลของพยาบาท ซึ่งเป็นการก่อเวรก่อกรรม ทำลายประโยชน์สุขของตนและผู้อื่น เมื่อนั้นใจก็จะจาง สิ่งที่ขุ่นก็จะมีสภาพผ่องใสขึ้นโดยลำดับ
ถวายพระพร จิตปราศจากนิวรณ์แล้วย่อมผ่องใสอย่างนี้”
ม: “ดูก่อนพระนาคเสน ที่ว่าศรัทธามีลักษณะจูงใจนั้นคืออย่างไร”
น: “ขอถวายพระพร ตัวอย่างเช่นคนที่เห็นคนอื่น เขาพยายามทำความดีจนสามารถนำตนขึ้นสู่ฐานะอันสูง แล้วนำเอาปฏิปทา (Mode of practice: วิถีปฏิบัติ, ทางดำเนิน) ของผู้นั้น นำมาเป็นทางดำเนินของตนบ้าง แม้จะยากลำบากสักเพียงไร ก็สู้พยายาม ด้วยเชื่อว่า คนที่จะตั้งตนไว้ในฐานะอันสูงเช่นนั้นได้ ต้องมีความอดทนตั้งหน้าบากบั่นทำไป
ถวายพระพร เช่นนี้แลเป็นลักษณะแห่งศรัทธาที่จูงใจ”
ม: “เธอจงหาตัวอย่างมาเปรียบให้ฟังอีก”
น: “เหมือนแม่น้ำที่ถูกกระแสน้ำเซาะฝั่ง ทำให้ฝั่งพังกว้างออกไปโดยลำดับ ผู้ที่จะผ่านไปเมื่อไม่ทราบว่า แม่น้ำนั้นตื้นลึกเพียงไร ก็ไม่กล้าที่จะข้ามไป ต้องยืนอยู่ริมฝั่งนั้น ต่อเมื่อมีผู้หาญข้ามไปก่อน เขาผู้นั้นจึงกล้าข้ามตามไป เพราะเชื่อว่าตนก็คงสามารถข้ามได้เช่นนั้น
ตัวอย่างนี้เป็นฉันใด แม้ศรัทธาก็เป็นฉันนั้น ย่อมจูงใจให้หาญกระทำกิจการ ดังพระพุทธบรรหารในสังยุตตนิกาย มีใจความว่า คนข้ามห้วงด้วยศรัทธา ข้ามมหาสมุทรคือวัฏฏสงสารได้ด้วยความไม่ประมาท ข้ามความทุกข์ได้ด้วยความเพียร และบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา”
ม: “เธอว่านี้น่าฟัง”
จบศรัทธาลักขณปัญหา
ปัญหาที่ ๑๑ ลักษณะความเพียร (วิริยลักขณปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน ก็วิริยะ (ความเพียร) มีลักษณะอย่างไร”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร มีลักษณะค้ำจุนไว้ อันความดีทั้งหลาย เมื่อได้ความเพียรเข้าค้ำจุนไว้แล้วย่อมไม่เสื่อมทราม”
ม: “เธอจงเปรียบให้ฟัง”
น: “เหมือนบ้านเรือนที่ซวนเซจะล้ม เมื่อเอาไม้เข้าค้ำไว้ก็ล้มไปไม่ได้ฉันใด ความเพียรก็ฉันนั้น ย่อมคอยค้ำใจที่รวนเรอยู่ให้กล้าบากบั่นต่อความยากลำบาก
ค้ำจุนความดีอื่นๆ ให้ทรงตัวอยู่ได้ ดังนัยแห่งพระพุทธภาษิตที่ว่า ผู้มีความเพียรย่อมละความชั่วได้และทำความดีให้เกิดขึ้นได้”
ม: “เธอว่านี้ชอบแล้ว”
จบวิริยลักขณปัญหา