ปัญหาที่ ๘ ลักษณะของผู้ไม่กลับมาเกิดอีก (มนสิการลักขณปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน ลักษณะแห่ง
โยนิโสมนสิการมีอย่างไร และลักษณะแห่งปัญญามีอย่างไร”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร โยนิโสมนสิการ
มีลักษณะยกขึ้น ปัญญามีลักษณะตัด”
ม: “ขอเธอ จงหาตัวอย่างมาเปรียบเทียบความต่าง แห่งลักษณะทั้ง ๒ นั้นให้ฟังที”
น: “ขอถวายพระพร ชาวนาเขาเกี่ยวข้าวกันอย่างไร”
ม: “เขาก็เอามือขวาจับเคียวตะล่อนข้าวรวมกันเข้าเป็นกำ แล้วเอา
มือซ้ายจับกำข้าวขึ้น แล้วเขาก็ตัดกำข้าวด้วยเคียวนั้น”
รูปเปรียบกับชาวนากำลังเกี่ยวข้าว
น: “นั่นแลฉันใด แม้ผู้ที่ฝึกฝนตนก็ฉันนั้นเหมือนกัน ใช้ความคิด
ความนึกยกเอาเหตุผลแห่งวิธีฝึกหัดทั้งหลายมารวมกันเพื่อไต่สวนใช้ความรอบรู้เป็นผู้ชี้ขาดว่า จะควรฝึกหัดด้วยวิธีอย่างไร จึงจะมีผล ขอถวายพระพร นี้แล เป็นความต่างแห่งลักษณะทั้ง ๒ นั้น”
จบมนสิการลักขณปัญหา
ปัญหาที่ ๙ ลักษณะของศีล (ศีลปติฏฐานลักขณปัญหา)
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน คำที่เธอว่าผู้ที่จักไม่กลับมาเกิดอีก เป็นเพราะกุศลธรรมเหล่าอื่นด้วยนั้น คือกุศลธรรมเหล่าไหน”
พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร คือกุศลธรรมเหล่านี้ ศีล (ความสำรวมกายวาจา), ศรัทธา (ความเชื่อ), วิริยะ (ความเพียร), สติ (ความระลึกได้), สมาธิ (ความตั้งใจมั่น), ปัญญา (ความรอบรู้)”
ม: “ก็ศีล มีลักษณะอย่างไรเล่าเธอ”
น: “ศีล เป็นที่เพาะปลูกคุณงามความดีด้านอื่นๆ ให้งอกงามดังผู้ที่รักษาศีลได้กระทำอยู่เป็นนิตย์ ย่อมปรากฏว่าเป็นผู้ที่เต็มไปด้วยคุณธรรมด้านอื่นไปด้วย เช่น มีเมตตา กรุณา เป็นต้น ขอถวายพระพร ศีล มีลักษณะอย่างนี้”
ม: “เธอจงเปรียบให้ฟัง”
รูปเปรียบกับพืชพันธุ์ต้องอาศัยดินในการเพาะปลูก (ในรูปพระมหากษัตริย์ของเราทรงทำการปลูกพืช ทรงพระเจริญ)
น: “ขอถวายพระพร คนทำการเพาะปลูกไม้ดอกไม้ผลจำเป็นต้องอาศัยแผ่นดินเป็นที่เพาะ เป็นที่ปลูกพืชพันธุ์นั้นจึงจะงอกงามขึ้นได้ หรืออีกอย่างเช่น การปลูกบ้านสร้างเรือน ก็จำต้องอาศัยแผ่นดินเป็นที่ขุดรากฝังเข็มเช่นเดียวกัน นี้แลฉันใด แม้ผู้ที่จะอบรมคุณงามความดีอย่างอื่น ก็จำต้องรักษาศีลให้เป็นพื้นเสียก่อน จะทำให้คุณธรรมด้านอื่น ๆ จึงจะอยู่ประจำและงอกงามขึ้นได้
ความข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ใจความว่า ผู้รักษาศีลย่อมทำให้สมาธิและปัญญางอกงามขึ้น เหตุว่าศีลนี้เป็นที่ตั้งอาศัยแห่งคุณธรรมทั้งหลาย ประหนึ่งว่าแผ่นดินเป็นที่อยู่อาศัยแห่งมูลสัตว์”
ม: “เธอว่านี้ชอบแล้ว”
จบศีลปติฏฐานลักขณปัญหา