บทที่ ๑๑ พื้นที่ ๙ ลักษณะ
“พื้นที่ยุทธศาสตร์แบ่งพื้นที่ได้เป็น ๙ ลักษณะ
พื้นที่ทำลายขวัญ
พื้นที่แนวหน้า
พื้นที่ที่ได้เปรียบ
พื้นที่เข้า-ออกสบาย
พื้นที่น้ำมิตร
พื้นที่ล่อแหลม
พื้นที่วิบาก
พื้นที่คอขวด
และพื้นที่ความตาย”
พื้นที่ทำลายขวัญ คือ เมื่อกองทัพข้าศึกมารบในดินแดนเรา หรือเข้ามารบในพื้นที่ที่เราคาดไม่ถึง และทหารฝ่ายเราเกิดขวัญหนีดีฝ่อ ขวัญกองทัพก็จะไม่มี กำลังใจสู้รบก็จะถดถอย ถ้าอยู่ในพื้นที่นี้ไม่ควรที่จะรบ ถ้ารบก็ให้แตกหักโดยเร็ว เพราะขวัญกำลังใจกองทัพยังไม่พร้อม
พื้นที่แนวหน้า คือ แนวรบด้านหน้าที่ทัพเราเข้าทำการรบกับข้าศึก ถ้าตกอยู่ในพื้นที่ตรงนี้อย่าได้หยุดทัพโดยไม่มีความจำเป็น ควรมุ่งหน้าเดินทัพต่อไป
พื้นที่ที่ได้เปรียบ คือ พื้นที่ที่ฝ่ายเรามีความได้เปรียบทางยุทธภูมิ การรบก็เกิดการได้เปรียบขึ้น ถ้าตกอยู่ในพื้นที่นี้ต้องรีบเข้าชิงพื้นที่ หากว่าข้าศึกยึดได้ก่อนก็อย่าวู่วามบุกเข้าตี
พื้นที่เข้า-ออกสบาย คือ พื้นที่ที่ทั้งฝ่ายเรา ฝ่ายข้าศึกเข้าออกได้อย่างสะดวกสบาย ง่ายดาย ถ้าอยู่ในพื้นที่นี้ ต้องยึดไว้ และวางกำลังทหารตลอดแนวต่อเนื่องกัน อย่าให้ขาดการติดต่อทั้งกองทัพ
พื้นที่น้ำมิตร คือ พื้นที่ที่ฝ่ายใดบุกถึงก่อน และมีสัมพันธไมตรีกับประเทศรอบด้าน ประเทศทั้งหลายก็ให้การช่วยเหลือ ถ้าอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ให้เจริญสัมพันธไมตรีรอบด้าน และดึงเข้ามาเป็นพวกเพื่อการสนับสนุนด้านการรบ
พื้นที่ล่อแหลม คือพื้นที่ที่ข้าศึกได้บุกเข้ามา และยึดพื้นที่นั้นได้แล้ว พื้นที่ส่วนนั้นก็จะอยู่ในกำมือข้าศึกอย่างไม่รู้ชะตากรรมว่าจะเป็นหรือตาย ถ้าตกอยู่ในพื้นที่นี้ต้องเตรียมรบแบบกองโจร คอยปล้นสะดม และตุนเสบียงเอาไว้
พื้นที่วิบาก คือ พื้นที่ที่มีสิ่งกีดขวางทางธรรมชาติในการเดินทัพ เช่น ป่าเขา แม่น้ำ ห้วยหนอง คลอง บึง ถ้าตกอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ให้รีบเคลื่อนทัพออกห่างจากพื้นที่นั้นโดยเร็ว
พื้นที่คอขวด คือ พื้นที่ที่ปากทางแคบการเดินทัพต้องทยอยเดินผ่าน เมื่อข้าศึกจู่โจมก็สามารถนำกำลังน้อยเข้ารบ และชนะกำลังมากอย่างง่ายดาย ถ้าตกอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ทางแก้ต้องรีบวางแผนที่จะตีฝ่าออกไปให้ได้
พื้นที่ความตาย คือ พื้นที่ที่ต้องรบชนะให้เร็วไม่เช่นนั้น ก็จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ถ้าตกอยู่ในพื้นที่นี้ต้องสู้ตายเพื่อความอยู่รอด
ผู้เชี่ยวชาญในการรบ ย่อมสามารถทำให้ข้าศึก
- กองกำลังข้าศึกทั้งแนวหน้า และกองหนุนไม่สามารถเข้าช่วยเหลือกันได้ทัน ต้องคอยห่วงหน้าพะวงหลัง
- หน่วยหลักกับหน่วยย่อยต่างคนต่างรบกันอย่างชุลมุน
- เกิดความระส่ำระสายในกองทัพทั้งแม่ทัพ และทหาร
- หน่วยเหนือ และหน่วยขึ้นตรงขาดการติดต่อกัน
- ทหารข้าศึกมีความสับสนวุ่นวายไม่เป็นระเบียบ
ฯลฯ
ผู้ที่เชี่ยวชาญในการรบ ที่สามารถทำได้อย่างนี้ และมองว่าทัพฝ่ายเราได้เปรียบ ก็ให้บุกเข้าโจมตี แต่ถ้าดูรูปการแล้ว ไม่ได้เปรียบ ก็อย่าได้เข้าโจมตี
จะทำอย่างไร ถ้าข้าศึกมีความพรั่งพร้อมทุกอย่างทั้งกำลัง และสรรพาวุธที่กำลังจะบุกโจมตีเรา ?
คำตอบก็คือจงตั้งสติ อย่าประมาท และวางแผนที่โจมตีข้าศึกในส่วนที่ข้าศึกมีความหวงแหน (กล่องดวงใจ) แล้วข้าศึกก็จะยินยอมทำตามทุกอย่างโดยไม่มีทางขัดขืน
หลักสำคัญในการทำสงคราม และเป็นหลักที่ผู้นำทัพต้องยึดถือ
ความรวดเร็ว ทำอะไรต้องทำอย่างรวดเร็ว รอบคอบ
ช่วงชิง ความได้เปรียบจากการที่ข้าศึกไม่ได้เตรียมตัว
ทำสิ่งไม่คาดฝัน ทำในสิ่งที่ข้าศึกคาดคิดไม่ถึง
เข้าตีเมื่อประมาท ช่วงที่ข้าศึกมีความประมาทไม่ระมัดระวังตัว
หลักสำคัญเมื่อรุกเข้าไปสู่ดินแดนข้าศึก ก็คือการสามัคคี รวมพลังกันอย่างแน่นหนา แล้วจะไม่มีใครต้านได้
วางแผนในการรู้จักใช้พื้นที่ด้วยความเหมาะสมตามยุทธศาสตร์ พร้อมกับมีกองกำลังที่ปรับตัวได้ตามพื้นที่ที่เข้ารบ จะสร้างความได้เปรียบให้กองทัพ และสร้างความกล้าหาญให้เหล่าทหาร นั่นคือจุดมุ่งหมายในการบริหารกองทัพ
ผู้นำทัพที่ดีต้อง สงบสุขุม เยือกเย็น ไม่หวั่นไหว ไม่ลำเอียง สามารถควบคุมสติตัวเองได้ สามารถเปลี่ยนแผน และพลิกแพลงกลยุทธได้ โดยข้าศึกไม่สามารถคาดเดาว่ากำลังทำอะไรอยู่ เป็นศูนย์รวมขวัญกำลังใจของเหล่าทหาร และพร้อมต่อสู้ทุ่มเทในสภาวะที่ดูเหมือนหมดสิ้นหนทาง นี้ก็คือ หน้าที่ของผู้เป็นแม่ทัพ
พื้นฐานในการปฏิบัติการทางทหาร อยู่ที่สามารถปรับตัวเองให้สอดคล้องกับสภาวะ สถานการณ์ และเปลี่ยนไปตามแผนของข้าศึก
ศึกษาติดตามสถานการณ์ความเป็นไปของข้าศึก เพื่อที่จะนำมาปรับใช้กับแผนของกองทัพฝ่ายเรา