บทความ
 เคมี (Chemistry)
 สู่อิสรภาพทางการเงิน (To Financial Freedom)
 การคำนวณ และออกแบบ (Calculation and design)
 เทคโนโลยีการเกษตร (Agricultural Technology)
 เครื่องมือกล (Machine tools)
 Laws of Nature
 อวกาศ
 พลังงาน
 อิเล็กทรอนิกส์
 ทฤษฏีสัมพัทธภาพ
 ไครโอเจนิกส์
 เฮลิคอปเตอร์
 เกียร์อัตโนมัติ
 โทรศัพท์มือถือ
 ยาง
 รถไฟความเร็วสูง
 คลัตช์ และกระปุกเกียร์ธรรมดา
 เจ็ทแพ็ค
 แผ่นดินไหว
 คู่มือ ต้องรอด
 โรงไฟฟ้าพลังน้ำ
 ดาวเทียม
 เชื่อมโลหะใต้น้ำ
 กังหันลมผลิตไฟฟ้า
 เครื่องยนต์ดีเซล
 เครื่องยนต์เบนซิน
 คัมภีร์สงครามซุนวู ฉบับเข้าใจง่าย
 โลหะ
 ฟิสิกส์
 ปัญหาพระยามิลินท์
 ยานยนต์สมัยใหม่
 แมคาทรอนิกส์
 เครื่องกล 6 แกน
 เครื่องยนต์เจ็ท
 หุ่นยนต์
 สินค้า ผลงาน
 เขียนแบบ
 ออกแบบ คำนวณ
 วางโครงการ
 งานโลหะ
 อุปกรณ์
 เครื่องกล
วันนี้ 613
เมื่อวาน 984
สัปดาห์นี้ 11,642
สัปดาห์ก่อน 29,853
เดือนนี้ 58,799
เดือนก่อน 65,987
ทั้งหมด 4,874,051
  Your IP :3.149.235.66

บทที่ ๑๐ ลักษณะภูมิประเทศ

 

ลักษณะของภูมิประเทศมี ๖ ลักษณะด้วยกัน คือ พื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายเดินทางได้สะดวก

 

พื้นที่ที่เข้าไปแล้วออกมายาก

 

พื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายเข้ารบกันไม่สะดวก

 

พื้นที่ที่เป็นจุดคับแคบ

 

พื้นที่อันตราย

 

และพื้นที่ที่มีระยะทางไกล

 

 

       พื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายเดินทางได้สะดวก คือพื้นที่ที่ฝ่ายเราเข้าได้ ฝ่ายข้าศึกก็เข้าได้ ในพื้นที่นี้ฝ่ายไหนเข้าพื้นที่ก่อนได้เปรียบ ควรยึดทำเลที่สูงที่สามารถมองภาพรวมได้กว้างไกล และมีทางส่งกำลังสนับสนุนได้อย่างสะดวก

 

       พื้นที่ที่เข้าไปแล้วออกมายาก คือพื้นที่ที่บุกเข้าไปได้ง่ายดาย แต่เวลาถอยกลับออกมานั้นยากเย็น ถ้าข้าศึกไม่ได้เตรียมการป้องกันไว้แล้วกองทัพบุกเข้าโจมตีก็สามารถเอาชนะได้ไม่ยากเย็น แต่ถ้าข้าศึกป้องกันตนเองอย่างดี การที่จะเอาชนะนั้นก็ยาก ซ้ำยังเป็นการถอยออกมายากด้วย ความเสียเปรียบก็จะตกอยู่กับฝ่ายเรา

 

      พื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายเข้ารบกันไม่สะดวก คือพื้นที่ที่เข้าไปแล้วมีความเสียเปรียบกันทั้งสองฝ่าย รบกันลำบาก ถ้าตกอยู่ในพื้นที่แบบนี้อย่ารบในที่นั้น แม้ว่าข้าศึกจะออกมาหลอกล่อให้สู้รบด้วย ก็อย่าหลงกล ควรที่จะหลอกล่อข้าศึกแล้วทำทีแพ้และแสร้งล่าถอย หลอกข้าศึกตามมาแล้วจึงเข้าตีเป็นเช่นนี้จึงจะได้เปรียบ

 

      พื้นที่ที่เป็นจุดคับแคบ คือพื้นที่ที่มีลักษณะเหมือนคอขวด สามารถทำให้กองทัพฝ่ายเราหรือฝ่ายข้าศึกต้องทยอยกันเข้าไปไม่สามารถยกเข้าไปเป็นกองทัพได้ ถ้าเรายึดพื้นที่นี้ได้ก่อน และทำการป้องกันปากทางเข้าได้ แม้จะมีกำลังทหารน้อยเราก็มีความได้เปรียบ เพราะข้าศึกจะ เข้ามาได้ทีละน้อย แต่ถ้ากองทัพข้าศึกเข้ายึดพื้นที่นี้ได้ก่อน อย่าบุ่มบ่ามเข้าไป ทำการตรวจลาดตระเวนความเป็นไป ถ้าหากปากทางไม่ได้ป้องกันไว้ก็สามารถทำการรบจู่โจมได้

 

       พื้นที่อันตราย ต้องรีบเข้ายึดพื้นที่นี้ก่อนข้าศึก และให้เลือกตั้งกองกำลังในที่สูงมองเห็นได้ชัดเจนกว้างไกล รอคอยข้าศึกมาและเข้าโจมตีจะมีความได้เปรียบมาก แต่ถ้าหากข้าศึกยึดพื้นที่ได้ก่อนอย่าได้เข้าไปใกล้พื้นที่นี้เด็ดขาด ให้รีบถอยออกมา

 

      พื้นที่ที่มีระยะทางไกล คือระยะทางในการรบของทัพเรากับฝ่ายข้าศึกห่างไกลกันมาก แม้ว่าข้าศึก และเรามีกำลังพอกันก็ไม่ควรรบ หรือฝืนรบด้วยเพราะจะมีความเสียเปรียบในระยะทาง ความล้าในการเดินทาง และเรื่องการส่งกำลัง เสบียง จึงไม่มีประโยชน์ในการรบ

 

นี้คือพื้นที่ทั้ง ๖ ลักษณะ เป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในการรบ เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญของแม่ทัพที่จะวิเคราะห์เพื่อชัยชนะแห่งกองทัพ

 

ลักษณะภูมิประเทศเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งสนับสนุนทางด้านการรบเท่านั้น หากแต่อยู่ที่ตัวผู้นำทัพที่ฉลาด มีการวิเคราะห์วางแผนเพื่อชัยชนะ สำรวจดูภูมิประเทศก่อนว่าสมควรหรือไม่ อันตรายหรือไม่ และคำนึงถึงสภาพการเดินทัพว่าห่างไกลเพียงใด ผู้นำเท่านั้นที่จะคิดสภาพการณ์ เข้าใจในเหตุแลผลเหล่านี้ให้ได้ ทั้งหมดจึงอยู่ที่ผู้นำทัพที่จะบังคับบัญชาการสู้รบ

 

ถ้าหากว่าผู้นำทัพสามารถพินิจพิเคราะห์ด้วยเหตุและผลทางยุทธศาสตร์แล้ว คิดว่าสมควรที่จะทำการรบ แม้ว่าผู้ปกครองสูงสุดของประเทศจะสั่งห้ามรบ ผู้นำทัพก็สามารถตัดสินใจเด็ดขาดสั่งการรบได้ แต่หากพินิจพิเคราะห์ด้วยหลักแห่งยุทธศาสตร์แล้วว่าไม่สมควรรบ แม้ว่าผู้ปกครองสูงสุดของประเทศจะสั่งให้รบ แม่ทัพก็อาจตัดสินใจที่จะไม่เข้ารบก็ได้

 

ผู้นำทัพต้องไม่มุ่งหวังในเกียรติยศชื่อเสียง ไม่กลัวต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้องใด ๆ มีจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ที่เชิดชูคุณธรรม ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน ผู้นำทัพเช่นนี้แหละที่ประเทศชาติต้องการ และถือเป็นสมบัติอันล้ำค่าของบ้านของเมือง

 

 

ความพ่ายแพ้ในการสู้รบนั้นมีอยู่ ๖ ข้อ 

 

๑. ความมุทะลุบ้าบิ่นแบบไม่มีความคิดของผู้นำ และทหาร เมื่อเรามีกำลังรบมากพอ ๆ กับฝ่ายข้าศึก แต่ไม่ใช้กำลังที่มีไปต่อสู้กัน ประมาทต่อข้าศึก และใช้กำลังเพียงยิบมือเข้าต่อสู้

 

๒. ความหย่อนยานต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย แม้กองทัพมีอาวุธดี พร้อมกับมีการฝึกทหารมาอย่างดี แต่นายทหารผู้บังคับบัญชาหย่อนยานไม่มีความสามารถต่อหน้าที่ที่จะบัญชาผู้อื่น

 

๓. ความอ่อนแอของกองทัพ แม้ว่าจะมีแม่ทัพที่เก่ง แต่ทหารที่จะสู้รบมีความอ่อนแอ ทำให้กำลังรบอ่อนแอไปด้วย

 

๔. การขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เมื่อมีความขัดแย้งกันของนายทหารที่บัญชาการ ไม่ยอมทำตามแผนที่ได้วางไว้ ไม่มีความสามัคคี ทำอะไรโดยพลการ ผู้เป็นแม่ทัพใหญ่ก็ไม่สามารถควบคุมได้

 

๕. การขาดวินัย ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ แม่ทัพที่อ่อนแอ ปกครองทหารไม่ได้ ไม่เด็ดขาด และฝึกทหารไม่ดี ทหารขัดแย้งกันเอง ความเป็นระเบียบก็หมดไป

 

๖. การวางแผน และคาดการณ์ที่ผิดพลาด ไม่วางคนตามตำแหน่ง ตามความรู้ความสามารถ อ่านแผนการรบไม่ขาด  เป็นความเสียหายที่ใหญ่หลวง

 

ทั้ง ๖ ประการนี้เป็นสาเหตุแห่งความพ่ายแพ้ เมื่อเกิดขึ้นอย่าได้ไปโทษ ดิน ฟ้า อากาศ หากเป็นความผิดพลาดของทหารโดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้นำทัพ

               

      ถ้าแม่ทัพรู้แต่ว่าตนมีกำลังที่จะโจมตีข้าศึกได้ แต่ไม่รู้ว่าข้าศึกมีกำลังมากไม่สามารถเข้ารบได้ ความหวังที่จะชนะมีเพียงครึ่งหนึ่ง และถ้ารู้แต่ว่า ข้าศึกมีกำลังไม่มากสามารถเข้าตีได้ แต่ไม่รู้ว่าฝ่ายตนก็มีกำลังไม่พอที่จะโจมตีข้าศึกได้เช่นกัน ความหวังที่จะรบให้ชนะก็มีเพียงครึ่งเดียว ถ้ารู้ว่าข้าศึกมีกำลังไม่มากสามารถเข้าทำการรบได้ และฝ่ายตนมีกำลังพอที่จะทำการรบด้วย แต่ไม่รู้ว่าฝ่ายตนอยู่ในภูมิประเทศที่เสียเปรียบ ความหวังที่จะชนะก็มีเพียงครึ่งเดียว ดังนั้น ผู้ที่รู้หลักสงคราม ย่อมคิดการณ์ไม่พลาด และสามารถพลิกแพลงกลยุทธได้เป็นร้อยเป็นพันวิธีโดยไม่มีทางที่จะหมดหนทาง กล่าวได้ว่ารู้เขารู้เรา สามารถชนะศึกได้โดยไม่มีอันตราย และยิ่งรู้สภาพดิน ฟ้า อากาศ สภาพภูมิประเทศด้วยแล้ว ชัยชนะย่อมเกิดขึ้น

 

 

 

Share on Facebook
 
Google

WWW
http://www.thummech.com/
ฟังเพลงออนไลน์ คลิกเลย
 
Copyright © 2013-2015 Thummech All Rights Reserved. 
Powered by  ThaiWebPlus 
คนธรรมดามีความรู้คือคนฉลาด คนฉลาดมีความเข้าใจคือคนธรรมดา