บทที่ ๖ การรู้ตื้นลึกหนาบาง
“ทัพฝ่ายไหนเดินทัพมาถึงสมรภูมิก่อนได้เปรียบ ฝ่ายนั้นไม่อิดโรย
ทัพฝ่ายไหนถึงทีหลัง ต้องเตรียมการรบอย่างฉุกละหุก ฝ่ายนั้นเหนื่อยล้า
กองทัพที่ชำนาญการศึก ย่อมเป็นฝ่ายบงการศึก ไม่ยอมให้ข้าศึกมาบงการตน”
จะหลอกล่อข้าศึกให้เข้าในพื้นที่ที่เรากำหนด ก็ให้หลอกล่อให้ข้าศึกเกิดความโลภ จะสกัดกั้นไม่ให้ข้าศึกเข้ามาในพื้นที่ที่ไม่ต้องการให้เข้า ก็จงทำลายสิ่งที่ทำให้โลภนั้นเสีย
ถึงแม้ว่าข้าศึกจะมีความกระฉับกระเฉง ก็สามารถทำให้ข้าศึกมีความอิดโรยได้ แม้นข้าศึกอิ่ม ก็ทำให้ข้าศึกนั้นหิวได้ แม้นข้าศึกตั้งมั่นในฐานที่มั่น ก็ทำให้ข้าศึกสามารถย้ายกองทัพได้
ก็เป็นเพราะว่าเราเข้าโจมตีในส่วนที่มีความสำคัญของข้าศึก จงทำให้ข้าศึกเกิดความสับสนอลหม่าน และเข้าตีในส่วนที่ข้าศึกนึกไม่ถึง
กองทัพเดินทางไกล โดยไม่อ่อนล้า ก็เพราะเดินทัพในเส้นทางที่ปลอดศัตรู เวลาเข้าโจมตีต้องโจมตีในส่วนที่ข้าศึกไม่สามารถป้องกันได้ ถึงคราวตั้งรับก็ตั้งรับอย่างมั่นคง เพราะต้องตั้งรับในส่วนที่รู้ว่าข้าศึกต้องโจมตีเราแน่ ๆ
ทหารที่สันทัดในการบุกโจมตี ก็ให้เข้าโจมตีในส่วนที่ข้าศึกขาดการป้องกัน
ทหารที่สันทัดในการตั้งรับ ก็จงป้องกันพื้นที่ที่ข้าศึกจะไม่เข้าตี
ดังนั้น ผู้ที่ชำนาญการโจมตี ข้าศึกจะไม่รู้ว่าควรป้องกันที่ใด
ส่วนผู้ที่ชำนาญในการตั้งรับ ข้าศึกก็จะไม่รู้ว่าจะเข้าตีที่ใด
ทหารที่บุกโจมตีข้าศึกโดยข้าศึกไม่อาจตั้งรับได้ ก็เพราะเข้าโจมตีจุดอ่อนของข้าศึก
ส่วนทหารที่จำเป็นต้องถอยทัพโดยศัตรูตามไม่ได้ จะกระทำอย่างรวดเร็วจนไม่มีใครไล่ตามทัน เปรียบเหมือนไป-มาดังลมพัด
ดังนั้น ถ้าเราต้องการรบ ก็รบ ถึงแม้ว่าข้าศึกจะสร้างป้อมปราการไว้สูง และแข็งแกร่งเท่าใด ก็ต้องจำเป็นที่จะต้องทิ้งค่ายออกมารบอยู่ดี เพราะเราจะโจมตีในส่วนที่ข้าศึกจำเป็นต้องกอบกู้
หากฝ่ายเราไม่ต้องการรบ ข้าศึกก็จะไม่มารบด้วย ก็เพราะว่าเราจะเปลี่ยนเป้าการโจมตีของข้าศึก ข้าศึกก็จะรีบไปป้องกันที่จุดนั้น
ดังนั้นเราจะสามารถกำหนดรูปแบบของข้าศึกได้ แต่เราต้องไม่มีรูปแบบที่แน่นอน (ไร้กระบวนทัพ เพื่อไม่ให้ข้าศึกจับทางได้) เมื่อเราไม่มีรูปแบบที่แน่นอน เราจึงสามารถรวมกำลังของเรา แบ่งแยกกำลังข้าศึกได้ เราสามารถรวมกันเป็นหนึ่ง แต่ข้าศึกแตกแยกกันเป็นสิบ จึงเปรียบได้ว่าเราใช้หนึ่งโจมตีสิบ
สถานการณ์นี้เราจะมีกำลังมากเข้าตีข้าศึกที่กำลังน้อยกว่าได้ ผู้ชำนาญการสงครามที่ใช้กำลังมากตีกำลังน้อยจะสามารถกำจัดฝ่ายข้าศึกได้
เราจะรบกับข้าศึก โดยข้าศึกไม่สามารถล่วงรู้ได้ เมื่อไม่รู้ก็ต้องป้องกันไปเกือบทุกแห่ง ทำให้กองกำลังถูกแบ่งออกไป จำนวนพลที่ป้องกันก็จะยิ่งน้อย
เช่นถ้าข้าศึกป้องกันด้านหน้า กำลังด้านหลังก็เบาบาง เมื่อป้องกันด้านหลัง กำลังด้านหน้าก็เบาบาง เมื่อป้องกันด้านซ้าย กำลังด้านขวาก็เบาบาง มาป้องกันทางขวา กำลังด้านซ้ายก็เบาบาง และเมื่อป้องกันทุกแห่ง กองกำลังแต่ละแห่งก็เบาบาง
เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าศึกจะอ่อนแอเพราะทำการแบ่งกำลังป้องกันเกือบทุกที่ กองกำลังฝ่ายเราจึงมีกำลังเข้มแข็ง เพราะเราได้ทำการแบ่งกำลังข้าศึก
ถ้าข้าศึกสามารถคาดเดาเหตุการณ์ เวลา และสถานที่ในการสู้รบได้ล่วงหน้า ถึงแม้ว่าจะอยู่ห่างไกลจากที่ทำการรบ ก็สามารถทำศึกได้
ถ้าข้าศึกไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์ เวลา และสถานที่ที่จะสู้รบได้ล่วงหน้า เมื่อทำการแบ่งแยกกำลังข้าศึกแล้ว ด้านหน้าก็จะช่วยด้านหลังไม่ได้ ด้านหลังก็จะช่วยด้านหน้าไม่ได้ ปีกขวาก็จะช่วยปีกซ้ายไม่ได้ ปีกซ้ายก็จะช่วยปีกขวาไม่ได้ ยิ่งถ้าอยู่ห่างไกลกัน ข้าศึกจะทำการได้ทันหรือ? แล้วกองทัพที่มีขนาดใหญ่ก็จะมีประโยชน์อะไรล่ะ พูดได้ว่าชัยชนะนั้นเราสามารถสร้างมันขึ้นมาได้ แม้ว่ากองทัพข้าศึกมีกำลังมหาศาลเราก็สามารถทำให้ข้าศึกไม่อาจสู้รบต่อกรกับเราได้
ดังนั้น เราจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ เพื่อให้รู้ถึงจุดอ่อนจุดแข็งในแผนการ
ต้องกวนข้าศึกให้ปั่นป่วน เพื่อหยั่งเชิงกองทัพข้าศึก
ต้องรู้กฎเกณฑ์ และรูปแบบของข้าศึก เพื่อทราบจุดเป็นจุดตาย
และ ต้องทำการสู้รบดูเพื่อหาจุดอ่อน และจุดแข็งของทั้งสองฝ่าย
สิ่งสำคัญในการวางแผนจัดรูปกระบวนศึก อยู่ที่จะไม่กำหนดรูปร่างให้แน่ชัด เพื่อว่าข้าศึกที่อาจเป็นสายลับแอบแฝงในกองทัพไม่สามารถดูรูปกระบวนศึกออก หรือถึงแม้ว่าข้าศึกจะดูออก แต่ก็ไม่สามารถทำลายแผนนั้นได้
และเมื่อแผนนี้ใช้สู้รบจนได้รับชัยชนะแล้ว ก็จะไม่ใช้ยุทธวิธีนั้นซ้ำอีก แต่จะวางแผนโดยดูสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไปโดยไม่รู้จักจบสิ้น กล่าวว่าในการทำสงครามจะไม่มีสภาวะใดคงที่