บทที่ ๕ อานุภาพของกลยุทธ
“สามารถปกครองไพล่พลจำนวนมากได้ ประดุจดั่งปกครองไพร่พลเพียงไม่กี่คน
สามารถบังคับบัญชากองทัพใหญ่ให้สู้รบได้ ประดุจดั่งบัญชากองทัพขนาดเล็ก
สามารถรับมือกับข้าศึกได้โดยไม่พ่ายแพ้ โดยใช้กลยุทธในการรบในแบบ และรบนอกแบบ อย่างพลิกแพลง
และสามารถโจมตีข้าศึกได้ประดุจดังใช้หินกระทบไข่ โดยการหลีกเลี่ยงจุดแข็งตีจุดอ่อนของข้าศึก”
การสู้รบนั้น มักต่อสู้กันซึ่งหน้าด้วยวิธีการรบในแบบ (ซึ่งหน้า ขาวสะอาด ตาต่อตา ฟันต่อฟัน) แต่รู้หรือไม่ส่วนใหญ่มักจะชนะกันในการรบนอกแบบ (การใช้เล่ห์เหลี่ยม)
ผู้ที่ชำนาญในการรบนอกแบบ สามารถพลิกแพลงได้ไม่อับจนหนทาง ประดุจดังฟ้าดินที่ไร้ขอบเขต
ไม่มีทางที่จะหมดสิ้น ประดุจดังมหาสมุทรที่ไม่มีทางแห้งขอด
เมื่อจบแล้วสามารถเริ่มใหม่ ประดุจดังดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ตกแล้วขึ้น ขึ้นแล้วตก
ตายแล้วก็สามารถฟื้นคืนใหม่ ประดุจดังฤดูกาลที่หมุนเวียนกันไป
เสียง (ตามปรัชญาเบญจธาตุ) มีเพียงห้า แต่การผันแปรของเสียงนั้น มีมากจนเราไม่อาจฟังได้หมด
สี (ตามปรัชญาเบญจธาตุ) มีเพียงห้า แต่การเปลี่ยนแปลงของสีนั้น มีมากจนเราไม่อาจดูได้หมด
และรส (ตามปรัชญาเบญจธาตุ) มีเพียงห้า แต่การผสมของรสนั้น มีมากจนไม่อาจลิ้มชิมได้หมด
กลยุทธก็เหมือนกัน แม้มีเพียงการรบนอกแบบ และรบในแบบ แต่กลยุทธทั้งสอง มีการแปรเปลี่ยนโดยไม่มีขอบเขตที่สิ้นสุด ให้กำเนิดซึ่งกันและกัน เป็นวัฏจักรไม่มีเริ่มต้นและไม่มีที่สิ้นสุด ขึ้นอยู่กับผู้ที่จะนำไปคิดพลิกแพลงได้
เปรียบกับธรรมชาติน้ำที่ไหลเชี่ยวสามารถพาหินใหญ่เคลื่อนที่ได้ เพราะอานุภาพของกำลัง และความเร็ว สัตว์อย่างอินทรีย์สามารถเข้าโฉบเหยื่อ และขย้ำจนแหลกลาญ เพราะรู้จักการประมาณช่วงระยะของการเข้าโจมตีฉันใด
ผู้ที่ชำนาญในการรบ ย่อมสามารถสร้างยุทธานุภาพด้วยความเร็ว และกำลังอันน่าสะพรึงกลัว พร้อมกับโจมตีในระยะที่สั้นได้ ฉันนั้น
อานุภาพของการยุทธนั้นคล้ายธนูที่ง้างเตรียมยิงเต็มที่แล้ว พร้อมที่จะปล่อยมันออกมาด้วยความรุนแรง
ขณะที่เข้าต่อสู้กัน ต้องสู้รบในสภาพชุลมุนวุ่นวายโดยกองทัพไม่สับสน ต้องพลิกแพลงสถานการณ์ โดยที่กองทัพไม่พ่ายแพ้ การรบที่แสร้งทำชุลมุนวุ่นวาย ต้องมาจากการรบอย่างมีระเบียบวินัย อาการที่แสร้งทำว่าขลาดกลัว ต้องมาจากการรบอย่างกล้าหาญ และการรบที่แสร้งทำทีว่าอ่อนแออ่อนเปลี้ย ต้องมาจากการรบอย่างเข้มแข็ง
ความมีระเบียบวินัย หรือความชุลมุนวุ่นวาย ตัดสินที่การจัดกำลังพล
ความกล้าหาญหรือความขี้ขลาด ตัดสินกันที่ศักยภาพ (ในการสำแดงศักยภาพให้ศัตรูเห็น ทหารที่ขี้ขลาด ก็กลับมากล้าหาญไปด้วย)
ความเข้มแข็งหรือความอ่อนแอ ตัดสินกันที่กำลัง และลักษณะของกระบวนทัพ (ถึงแม้กระบวนทัพที่มีกำลังมากถ้ากระบวนทัพไม่ดีก็อ่อนแอได้เช่นกัน)
ผู้ชำนาญการศึก สามารถสร้างสถานการณ์ ลวงให้ข้าศึกเคลื่อนไหว และใช้ผลประโยชน์หลอกล่อข้าศึกช่วงชิงความได้เปรียบตามที่ฝ่ายตนต้องการ
ดังนั้นผู้ที่ชำนาญการศึก ย่อมแสวงชัยชนะโดยการสร้างสถานการณ์ ที่ได้เปรียบอยู่เสมอ รู้จักใช้คน และทรัพยากร ให้คล้อยตามสภาวการณ์ได้เปรียบที่สร้างขึ้น
ผู้นำทัพจะคล้อยตามสภาวการณ์ได้เปรียบที่สร้างขึ้น สามารถบัญชากองทัพให้สู้รบกับข้าศึก อย่างกับพลิกฝ่ามือ เปรียบดั่งธรรมชาติไม้หรือก้อนหินนั้นอยู่ในที่ราบจะนิ่งไม่ขยับเขยื้อน แต่ถ้าอยู่บนที่สูงลาดชันถ้ากลิ้งลงมา อานุภาพการทำลาย การบดขยี้สิ่งที่ขวางทางไม่ต้องพูดถึง
ดังนั้นผู้ที่ชำนาญในการสงครามจึงอยู่ในสภาวะที่ได้เปรียบ และผลการได้เปรียบสามารถทำความเสียหายใหญ่หลวงต่อข้าศึก และนี่คืออานุภาพของการยุทธ