บทความ
 เคมี (Chemistry)
 สู่อิสรภาพทางการเงิน (To Financial Freedom)
 การคำนวณ และออกแบบ (Calculation and design)
 เทคโนโลยีการเกษตร (Agricultural Technology)
 เครื่องมือกล (Machine tools)
 Laws of Nature
 อวกาศ
 พลังงาน
 อิเล็กทรอนิกส์
 ทฤษฏีสัมพัทธภาพ
 ไครโอเจนิกส์
 เฮลิคอปเตอร์
 เกียร์อัตโนมัติ
 โทรศัพท์มือถือ
 ยาง
 รถไฟความเร็วสูง
 คลัตช์ และกระปุกเกียร์ธรรมดา
 เจ็ทแพ็ค
 แผ่นดินไหว
 คู่มือ ต้องรอด
 โรงไฟฟ้าพลังน้ำ
 ดาวเทียม
 เชื่อมโลหะใต้น้ำ
 กังหันลมผลิตไฟฟ้า
 เครื่องยนต์ดีเซล
 เครื่องยนต์เบนซิน
 คัมภีร์สงครามซุนวู ฉบับเข้าใจง่าย
 โลหะ
 ฟิสิกส์
 ปัญหาพระยามิลินท์
 ยานยนต์สมัยใหม่
 แมคาทรอนิกส์
 เครื่องกล 6 แกน
 เครื่องยนต์เจ็ท
 หุ่นยนต์
 สินค้า ผลงาน
 เขียนแบบ
 ออกแบบ คำนวณ
 วางโครงการ
 งานโลหะ
 อุปกรณ์
 เครื่องกล
วันนี้ 1,745
เมื่อวาน 1,871
สัปดาห์นี้ 7,850
สัปดาห์ก่อน 15,976
เดือนนี้ 70,776
เดือนก่อน 47,501
ทั้งหมด 4,338,663
  Your IP :3.82.3.33

ปัญหาที่ ๓ ผู้ต้องอาบัติปาราชิกแล้วกลับมาบวชอีก (อภิสมยันตรายกราปัญหา)

 

      พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน ผู้ที่ต้องอาบัติปาราชิกโดยไม่รู้สึกแล้ว ภายหลังบวชอีก ถ้ามาปฏิบัติชอบเข้าจะได้บรรลุมรรคผล หรือไม่”

 

      พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร ไม่ได้”

 

      ม: “เพราะเหตุไร”

 

      น: “เพราะผู้นั้นได้เพิกถอน เหตุที่จะให้บรรลุมรรคผลเสียแล้ว”

 

      ม: “ก็เธอว่า ผู้ที่รู้ว่าตนกระทำผิดย่อมมีจิตฟุ้งซ่าน เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลอยู่เอง แต่ผู้ที่ไม่รู้ จิตก็ไม่ฟุ้งซ่าน แน่วแน่อยู่ในการปฏิบัติชอบ เมื่อเป็นอย่างนั้น เหตุไรจึงไม่บรรลุมรรคผลเล่า”

 

      น: “ขอถวายพระพร อาตมภาพจะยกตัวอย่างมาเปรียบถวาย เหมือนพืชพันธุ์ที่บุคคลหว่านลงที่พื้นดินซึ่งกระทำไว้ดีแล้ว ก็ย่อมขึ้นมิใช่หรือ”

 

      ม: “ก็ขึ้นสิ”

 

      น: “ก็ถ้าจะเอาหว่านลงที่พื้นหิน พืชนั้นจะขึ้นหรือไม่”

 

      ม: “จะขึ้นได้อย่างไรเล่าเธอ”

 

      น: “เป็นเพราะอะไร”

 

      ม: “เป็นเพราะหินเป็นแท่งทึบ ไม่มีเชื้อที่เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงพืชพันธุ์นั้นให้งอกขึ้นได้”

 

      น: “นั่นแลฉันใด นี่ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ที่ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ก็เท่ากับสิ้นเชื้อแห่งการที่จะได้บรรลุมรรคผลเช่นเดียวกัน”

 

      ม: “ก็ไม่รู้นี่เธอ ไม่น่าจะต้องรับโทษถึงเท่านั้นเลย”

 

      น: “ขอถวายพระพร ผู้ที่กลืนยาพิษโดยไม่รู้ จะตายหรือไม่”

 

      ม: “ก็ตายสิ”

 

      น: “นี่ก็เช่นนั้นเหมือนกัน แม้ตัวจะไม่รู้ว่าต้องอาบัติปาราชิกก็จริง แต่โทษแห่งการต้องอาบัตินั้น ก็คงตามสนอง คือทำให้ไม่ได้บรรลุมรรคผลเช่นเดียวกัน”

 

      ม: “เธอว่านี้ชอบแล้ว”

 

จบอภิสมยันตรายกราปัญหา

 

 

 

ปัญหาที่ ๔ สมณะ และคนธรรมดาผิดศีล (สมณทุสีล คิหิทุสีล ปัญหา)

 

      พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน คฤหัสถ์ทุศีลกับสมณะทุศีล ไหนจะเพลา (เบาลง) กว่ากัน”

 

      พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร สมณะเพลากว่า  เหตุว่าสมณะ

 

ย่อมประกอบด้วยองคคุณ  ๑๐  ประการ คือ

 

      ๑) สมณะย่อมเคารพในพระพุทธเจ้า

 

      ๒) สมณะย่อมเคารพในพระธรรมเจ้า

 

      ๓) สมณะย่อมเคารพในพระสังฆเจ้า

 

      ๔) สมณะย่องเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์

 

      ๕) สมณะย่อมกระทำความเพียรในการบอกกล่าว เล่าเรียนพระบาลีอรรถกถา

 

      ๖) สมณะย่อมมากไปด้วยการฟังธรรม

     

      ๗) คราวเข้าสมาคม สมณะย่อมมีกิริยาเรียบร้อย

 

      ๘) สมณะย่อมมีจิตมุ่งต่อความเพียร

 

      ๙) และย่อมทรงไว้ซึ่งสมณเพศ

 

      ๑๐) สมณะแม้จะทำความชั่ว ก็ย่อมกระทำในที่ลับ

 

      ขอถวายพระพร อนึ่งสมณะแม้จะทุศีลก็ยังดีกว่าคฤหัสถ์ ด้วยว่ายังกระทำทักขิณาทานของทายกให้เผล็ดผลได้ เพราะเหตุ  ๑๐  ประการ คือ

 

      ๑) เพราะสมณะเพศหาโทษมิได้ เป็นเพศที่กระทำให้ทายกเลื่อมใส

 

      ๒) เพราะสมณะเพศเป็นดุจไม้เท้าของทายก

 

      ๓) เพราะตนปฏิบัติตามลัทธิของหมู่คณะ

 

      ๔) เพราะตนถือพระพุทธพระธรรมเป็นที่พึ่ง

 

      ๕) เพราะตนมิได้อาลัยในที่อยู่

 

      ๖) เพราะตนมีหน้าที่แสวงหาคำสั่งสอนของพระพุทะเจ้า

 

      ๗) เพราะตนแสดงธรรมมีเทศน์และสวดมนต์เป็นต้น

 

      ๘) เพราะตนมีประทีปคือธรรมส่องไปข้างหน้า

 

      ๙) เพราะตนมีความเห็นเที่ยงตรง

 

      ๑๐) เพราะตนกวาดพระอุโบสถ

 

      ขอถวายพระพร เนื่องด้วยสมณะทรงคุณพิเศษมากอย่างมากประการ ฉะนี้แล แม้จะทุศีลก็ยังเพลากว่าคฤหัสถ์ทุศีล 

 

      ประหนึ่งน้ำแม้จะขุ่นก็พอ จะนำมาล้างเลนตมที่เปรอะเปื้อนร่างกายให้หมดสิ้นไปได้ฉะนั้น”

 

จบสมณทุสีล คิหิทุสีล ปัญหา

 

 

Share on Facebook
 
Google

WWW
http://www.thummech.com/
ฟังเพลงออนไลน์ คลิกเลย
 
Copyright © 2013-2015 Thummech All Rights Reserved. 
Powered by  ThaiWebPlus 
คนธรรมดามีความรู้คือคนฉลาด คนฉลาดมีความเข้าใจคือคนธรรมดา